LIVING SERIES
  • Witty Living

ติดตั้งกระจกนิรภัยควรเลือกความหนาของกระจกเท่าไหร่ดี?

บทความที่จะแนะนำเลือกใช้กระจกภายในบ้านเพื่อความปลอดภัย และมีความหนาที่กระจกให้เหมาะสม

AP THAILAND

AP THAILAND

ในปัจจุบัน “กระจก” ได้กลายเป็นหนึ่งในวัสดุสำหรับตกแต่งบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากกระจกช่วยเพิ่มสีสันภายในบ้าน ทำให้บ้านมีมิติ ดูสว่างมากขึ้น แต่นอกจากความสวยแล้ว หลายคนก็น่าจะคำนึงถึงวัสดุที่ทั้งสวย และให้ความปลอดภัยได้อีกด้วย ซึ่งกระจกนิรภัยก็เป็นหนึ่งในวัสดุที่หลายๆ คนให้ความสนใจในการตกแต่งบ้าน

 

แต่จะเลือกใช้กระจกบ้านนิรภัยแบบไหนมาตกแต่งถึงจะดี? หรือปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและคุ้มค่ามากที่สุด? บทความนี้ทางเอพีได้รวมเทคนิควิธีการเลือกใช้กระจกนิรภัย พร้อมเคล็ดลับในการเลือกความหนากระจกให้เหมาะสมกับความต้องการเรียบร้อยแล้ว

 

กระจกนิรภัย

 

เลือกใช้กระจกนิรภัย ตัวเลือกเพิ่มความปลอดภัยภายในบ้าน

“กระจกนิรภัย” เป็นตัวเลือกชั้นยอดเพื่อความปลอดภัยของบ้าน ซึ่งกระจกบ้านนิรภัยนั้นจะมีความแข็งแรง ทนทานกว่ากระจกธรรมดาหลายเท่า อีกทั้งเวลาแตกยังช่วยป้องกันอันตรายจากเศษกระจกได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีกระจกนิรภัยให้เลือกใช้ถึง 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

 

กระจกเทมเปอร์

กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass)

ประเภทที่ 1 กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) หรือมักเรียกกันว่า “กระจกอบ” เป็นกระจกธรรมดาๆ ที่ผ่านกระบวนการพิเศษ โดยนำกระจกมาผ่านอุณหภูมิที่สูงประมาณ 650 องศาเซลเซียสก่อน จากนั้นทำให้ตัวกระจกเย็นลงอย่างฉับพลัน วิธีนี้จะทำให้กระจกด้านนอกแข็งตัวเร็วกว่าด้านใน เกิดความเครียดในกระจก ซึ่งผลความเครียด จะทำให้เกิดเส้นแรง 2 ชนิด เส้นแรก คือ เส้นแรงรอบกระจก และเส้นที่ 2 คือ เส้นแรงในเนื้อกระจกที่ดันออกมาด้านนอก โดยเส้นแรงทั้ง 2 ชนิดจะช่วยให้กระจกเทมเปอร์มีความแข็งแรงทนทานมากกว่ากระจกธรรมดาหลายเท่าตัว เมื่อแตกออก เนื้อกระจกเทมเปอร์จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายกับเม็ดข้าวโพด จะไม่ได้แตกออกมาแล้วเป็นเศษแหลมคมแบบกระจกทั่วไป โดยกระจกเทมเปอร์นั้นเหมาะกับการใช้งานเป็นประตูบานเปลือย, ฉากกั้นอาบน้ำ, ผนังบ้าน, ตู้โชว์อัญมณี เป็นต้น

 

กระจกลามิเนต

กระจกลามิเนต (Laminated Glass)

ประเภทที่ 2 กระจกลามิเนต (Laminated Glass) หรือเรียกกันว่า กระจกนิรภัย 2 ชั้น เป็นกระจกธรรมดา หรือกระจกเทมเปอร์ที่ประกบกัน 2 แผ่น โดยมีแผ่นคล้ายๆ แผ่นฟิล์มคั่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือแผ่นพลาสติกใสชนิดโพลีไวนิลบิวทิรัล (Polyvinyl Butyral) ที่มีคุณสมบัติในเรื่องของความเหนียว และมีประสิทธิภาพการยึดเกาะสูง ทำให้เวลากระจกลามิเนตแตกมักจะเห็นเป็นรอยแตกยาวๆ แต่ว่าตัวกระจกมักติดอยู่ที่เดิม ไม่หลุดออกมาเป็นชิ้นๆ ทำให้กระจกลามิเนตเป็นกระจกที่มีความปลอดภัยสูง เหมาะกับการตกแต่งเป็นกระจกด้านนอกของตัวบ้าน, ตกแต่งบานประตู, ฝ้า, พื้น, ผนังห้อง อีกทั้งป้องกันการโจรกรรม, กันความร้อนและกันรังสียูวีจากแสงแดดได้มากกว่า 90%

 

กระจกเสริมลวด

กระจกเสริมลวด (Wire-Reinforced Glass)

ประเภทที่ 3 กระจกเสริมลวด (Wire-Reinforced Glass) เป็นกระจกที่มีเส้นลวดโลหะฝังเป็นแผงตาข่ายอยู่ภายในกระจก เมื่อกระจกมีการแตกออก เส้นลวดที่อยู่ภายในกระจกจะช่วยยึดเศษกระจกไม่ให้หลุดออกมา ควรใช้กระจกเสริมลวดบริเวณทางเดินหนีไฟ หรือบริเวณเพดาน, ผนังบ้าน แต่ไม่ควรใช้กระจกชนิดนี้ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดสนิม และบริเวณที่ใกล้กับอุปกรณ์ทำความร้อน เช่น บริเวณใกล้กับสระว่ายน้ำ, ใกล้กับเครื่องทำน้ำอุ่น หรือบริเวณที่ใกล้กับเตาหุงต้ม เพราะอาจทำให้กระจกเสริมลวดแตกออกมาก็เป็นได้

 

เลือกความหนากระจกให้เหมาะ

เลือกความหนากระจกให้เหมาะกับการใช้งาน

ความหนากระจกมีให้เหลือกหลายหลายตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นขนาด 3 มิลลิเมตร, 5 มิลลิเมตร จนไปถึง 20 มิลลิเมตรเลยก็มี ซึ่งสิ่งหลักๆที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลือกความหนาของกระจก คือ ความหนาของกระจกจะต้องไม่บางจนเกินไป ควรเลือกความหนาของกระจก โดยพิจารณาจากบริเวณที่ต้องการติดกระจกนิรภัยเป็นหลัก เช่นการใช้งานดังต่อไปนี้

 

ความหนากระจกสำหรับงานหลังคา

ความหนากระจกสำหรับงานหลังคา

กระจกสำหรับงานหลังคา ต้องเป็นกระจกที่ดูแข็งแรง พร้อมกับมีคุณสมบัติในการลดการแตกเปราะ ควรเลือกกระจกนิรภัยเทมเปอร์ หรือกระจกลามิเนต โดยเลือกความหนากระจกที่ค่อนข้างสูง ประมาณ 10 - 20 มิลลิเมตรขึ้นไป เพื่อรองรับน้ำหนัก เพิ่มความแข็งแรง ทนทานของโครงสร้าง

 

ึความหนากระจกสำหรับประตูหน้าต่าง

ความหนากระจกสำหรับงานประตู-หน้าต่าง

กระจกสำหรับงานประตู-หน้าต่าง ควรเลือกกระจกที่มีความหนาปานกลางจนถึงค่อนข้างสูง เนื่องจากประตูและหน้าต่างนั้น เป็นจุดที่มีการเปิดเข้า-ออกอยู่ตลอด สำหรับประตู, หน้าต่างที่มีกรอบเฟรมควรเลือกความหนากระจกที่ 5-6  มิลลิเมตร และสำหรับประตูหน้าต่างที่ไม่มีกรอบควรเลือกกระจกที่มีความหนาสูง ประมาณ 10 มิลลิเมตรขึ้นไป

 

ความหนากระจกสำหรับท็อปโต๊ะ

ความหนากระจกสำหรับท็อปโต๊ะ

กระจกสำหรับท็อปโต๊ะ เปลี่ยนโต๊ะธรรมดาให้กลายเป็นโต๊ะใหม่ด้วยการวางกระจกท็อปโต๊ะทับลงไปบนโต๊ะเดิม

โดยสามารถเลือกสี, ลวดลายของกระจกได้ตามต้องการ มักนิยมใช้กระจกเคลือบสี หรือกระจกพิมพ์ลาย มาทำเป็นกระจกท็อปโต๊ะ ควรเลือกความหนาของกระจกอยู่ที่ 6-12 มิลลิเมตร

 

ความหนากระจกสำหรับชั้นวางของ

 ความหนากระจกสำหรับชั้นวางของ

กระจกสำหรับชั้นวางของ เป็นของตกแต่งยอดนิยมเนื่องจากตัวกระจกช่วยทำให้สิ่งของที่วางนั้นดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ควรเลือกใช้กระจกบ้านนิรภัยเทมเปอร์ที่มีความหนากระจกอยู่ที่ 5 มิลลิเมตร หรือสามารถเพิ่มความหนากระจกได้ตามความต้องการใช้งาน เช่น การวางถ้วยรางวัลที่ค่อนข้างหนัก ควรจะเพิ่มความหนาของกระจกเข้าไปจาก 5 มิลลิเมตรเป็น 6 มิลลิเมตร

 

กระจกนิรภัยมีข้อดีอย่างไร

เลือกใช้กระจกนิรภัยภายในบ้านมีข้อดีอย่างไร

กระจกนิรภัยช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวบ้าน โดยเฉพาะส่วนของโครงสร้างพวกประตู หน้าต่าง หรือตามจุดสำคัญ เมื่อลองเปรียบเทียบกระจกนิรภัยกับกระจกธรรมดาดู จะเห็นข้อดีมากมาย ได้แก่

 

  • กระจกนิรภัยมีความแข็งแกร่งกว่ากระจกธรรมดาหลายเท่าตัว
  • กระจกบ้านนิรภัย ตอบโจทย์ความสวยงามของบ้านยุคใหม่ ช่วยเพิ่มความสว่าง และทำให้บ้านดูน่าอยู่
  • กระจกบ้านนิรภัยช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินภายในบ้าน เนื่องจากตัวเนื้อกระจกนิรภัยมีความหนากว่า แข็งแรงกว่า ทำให้การโจรกรรมเป็นไปได้ยากมากขึ้น
  • เวลากระจกนิรภัยแตก บางชนิดจะแตกออกมาเป็นลักษณะเม็ดเล็กๆคล้ายเม็ดข้าวโพด หรือบางชนิดจะเป็นรอยแตก แต่ไม่มีเศษกระจกหลุดออกมาเลย ซึ่งแตกต่างกับกระจกธรรมดา ที่อาจแตกเป็นเศษแหลมคมที่อาจเกิดการบาดเจ็บได้

 

การติดตั้งกระจกบ้านนิรภัยนั้นมีข้อดีมากมาย ทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยภายในบ้าน, ช่วยเพิ่มความสว่าง, เปลี่ยนบรรยากาศภายในบ้าน ให้ดูสบายตามากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อกระจกนิรภัย คือ รู้ความแตกต่างของกระจกนิรภัยแต่ละชนิด รวมถีงเลือกความหนากระจกให้เหมาะสม เพื่อให้กระจกมีขนาดพอดีกับตัวบ้าน ตอบโจทย์การใช้งาน และลดโอกาสแตกให้ได้มากที่สุด

RELATED ARTICLES