LIVING SERIES
  • Witty Living

5 สิ่งควรรู้ก่อนการติดโซล่าเซลล์บ้าน

บทความที่จะมาแนะนำให้รู้จักกับโซล่าเซลล์บ้านพร้อมเรื่องน่ารู้ก่อนการติดตั้งและข้อดีต่างๆ อีกมากมาย

AP THAILAND

AP THAILAND

ติดโซล่าเซลล์บ้าน

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายคนหันมาสนใจติดโซล่าเซลล์บ้านมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยลดค่าไฟได้ และยังเป็นการช่วยประหยัดการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะๆ ในช่วงกลางวัน สำหรับกระบวนการทำงานของแผงโซล่าเซลล์นั้น จะทำหน้าที่เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้า และทำการเก็บสำรองไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ จากนั้นจะมีการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าตรงให้เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ ทำให้คุณสามารถนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ได้กับอุปกรณ์ภายในบ้านทั่วไปได้

 

ทั้งนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจติดตั้งโซล่าเซลล์ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่ควรรู้ เพราะเป็นการติดตั้งในระยะยาวถึง 25-30 ปี หากพิจารณาไม่ดีอาจจะทำให้การติดตั้งโซล่าเซลล์ของคุณนั้นไม่คุ้มค่า เพราะฉะนั้น ในบทความนี้จึงรวบรวม 5 สิ่งที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจติดโซล่าเซลล์ในบ้าน! มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

 

ความพร้อมของสถานที่ก่อนติดโซล่าเซลล์บ้าน

 

1.สำรวจความพร้อมของสถานที่ก่อนติดโซล่าเซลล์บ้าน

การสำรวจความพร้อมของสถานที่ จะทำให้คุณรู้ว่าสามารถทำการติดโซล่าเซลล์บ้านได้หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบในเบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้

ตรวจสอบกำลังไฟบ้าน

การตรวจสอบกำลังไฟภายในบ้าน ทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนคุณใช้กำลังไฟอยู่ที่เท่าไร และควรเลือกติดโซล่าเซลล์ขนาดเท่าไรจึงจะเหมาะสม ในการตรวจสอบสามารถใช้หลักการคร่าวๆ อย่างการคำนวณด้วยค่าไฟที่ชำระในแต่ละเดือน ตัวอย่างเช่น

 

  • ค่าไฟเดือนนี้ 5,000 บาท ให้คุณทำการแบ่งค่าไฟออกเป็นตอนกลางวัน 70% และตอนกลางคืน 30% ดังนั้น ค่าไฟตอนกลางวันที่ใช้ไปจะอยู่ที่ 3,500 บาท และเฉลี่ยค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย
  • นำจำนวนค่าไฟตอนกลางวันทำการหารด้วยค่าไฟฟ้าต่อหน่วย จะได้ 3,500÷4= 875 หน่วย
  • เอาเลขจำนวนหน่วยที่ได้ หารด้วยจำนวนวัน และจำนวนชั่วโมงที่มีแสงอาทิตย์เป็น (875÷30)÷9= 3.2 หน่วยต่อชั่วโมง

 

ดังนั้น การติดตั้งโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมคือ ขนาดที่ 3-5 กิโลวัตต์ (3KW) แต่วิธีนี้จะเป็นการคำนวณในเบื้องต้นเท่านั้น แนะนำว่าก่อนการติดตั้ง คุณสามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้จากผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์

 

ความแข็งแรงของหลังคาบ้าน

มาตราฐานของแผ่นโซล่าเซลล์จะมีขนาดอยู่ที่ 1x2 เมตร และ 1 แผ่น จะมีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม ดังนั้น คุณควรทำการตรวจสอบหลังคาบ้าน และวัสดุที่ใช้ปูหลังคา หากเกิดรอยแตก รอยร้าว รอยรั่ว หรือตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นวัสดุที่ไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง ควรทำการรีโนเวทใหม่ เพราะการติดโซล่าเซลล์บ้านเป็นการติดตั้งในระยะยาวหลายสิบปี หากไม่ตรวจสอบจุดนี้อาจจะเกิดผลกระทบจากการรับน้ำหนักเกินได้

รูปทรงของหลังคาบ้าน

 

  • หลังคาทรงจั่ว เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดี ลักษณะของทรงหลังคาจะสูง ลาดชัน ทำให้สามารถติดโซล่าเซลล์ได้ง่ายที่สุด
  • หลังคาทรงปั้นหยา จะมีลักษณะลาดเอียงเล็กน้อย และเป็นทรงที่นิยมใช้กันทั่วโลก ข้อดีของหลังคาประเภทนี้ที่สามารถปะทะลม กันแดด กันฝนได้ดี แต่การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในการติดโซล่าเซลล์บ้านสามารถติดตั้งได้ทุกทิศของหลังคา
  • หลังคาทรงเพิงแหงน สามารถติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ง่ายเช่นเดียวกับหลังคาทรงจั่ว เพราะมีพื้นที่หลังคาเยอะและกว้าง แต่ต้องระวังในเรื่องของการรั่วซึมเมื่อฝนตก เนื่องจากความลาดเอียงของหลังคาประเภทนี้น้อยมาก ส่งผลให้ระบายน้ำฝนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

 

จะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซล่าเซลล์สามารถทำการติดตั้งได้กับหลังคาทุกๆ ประเภท แต่จะมีบางประเภทที่ทำการติดตั้งได้ง่ายกว่าประเภทอื่นๆ และบางประเภทมีข้อจำกัดในเรื่องของการระบายน้ำที่จะส่งผลต่อการรั่วซึม

ทิศทางที่เหมาะสมกับการติดตั้ง

 

  • ทิศเหนือ เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยที่สุด เพราะในประเทศไทยนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและอ้อมไปทางทิศใต้ แนะนำว่าไม่ควรติดโซล่าเซลล์บ้านหันแผงไปทางทิศเหนือ
  • ทิศใต้ เป็นทิศที่ควรหันแผงโซล่าเซลล์ไปทิศทางนี้ เพราะจะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ในการติดตั้งสามารถเอียงแผงเล็กน้อยประมาณ 13.5 องศา เพื่อให้แผงสามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่
  • ทิศตะวันออก จะได้รับแสงแดดปานกลาง แต่ข้อจำกัดการรับแสงจะอยู่ในช่วงเช้า-เที่ยงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทางทิศใต้ การรับแสงของทิศตะวันออกจะได้รับแสงน้อยกว่า 2-16% จะส่งผลให้แผงโซล่าเซลล์ทำงานได้ไม่เต็มที่
  • ทิศตะวันตก ประสิทธิภาพการรับแสงจะเท่ากับทางด้านทิศตะวันออก

 

แผงโซล่าเซลล์แต่ละประเภท

 

2.ทำความรู้จักแผงโซล่าเซลล์แต่ละประเภท

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับแผงโซล่าเซลล์ ต้องแนะนำระบบการติดโซล่าเซลล์บ้านที่นิยมมากที่สุด จะเป็นระบบออนกริด ซึ่งเป็นระบบที่เหมาะสำหรับการติดตั้งกับสถานที่อยู่อาศัย และราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้หลายคนเลือกที่จะติดตั้งระบบนี้

 

ทั้งนี้ แผงโซล่าเซลล์ที่นิยมใช้ในประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ซึ่งคุณสมบัติจะแตกต่างกันออกไปเพื่อรองรับการใช้งานที่ต่างกัน

แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)

วิธีการสังเกตแผงโซล่าเซลล์ประเภทนี้ รูปทรงของเซลล์จะมีสีเข้ม มุมทั้งสี่มุมจะเป็นสี่เหลี่ยมมุมตัด ทำมาจากซิลิคอนทรงกระบอกบริสุทธิ์

 

  • ข้อดี มีคุณภาพสูง สามารถผลิตไฟได้ดีแม้ว่าแสงแดดจะน้อย และอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25-40 ปี
  • ข้อเสีย ในกรณีที่มีคราบสกปรกบนแผงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ระบบอินเวอร์เตอร์ไหม้ได้ และแผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้มีราคาสูง

 

แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)

วิธีการสังเกตแผงโซล่าเซลล์ประเภทนี้ รูปทรงของเซลล์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่มีการตัดมุม สีแผงเข้มออกไปทางสีน้ำเงิน ทำมาจากผลึกซิลิคอน

 

  • ข้อดี ราคาไม่แพง และแผงโพลีคริสตัลไลน์สามารถใช้งานในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าแผงคริสตัลไลน์เล็กน้อย
  • ข้อเสีย ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 13-16% และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้นเพียง 20-25 ปี

 

แผงโซล่าเซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)

วิธีการสังเกตุแผงโซล่าเซลล์ประเภทนี้ สีแผงจะเข้ม มีสีดำ ฟิล์มจะมีลักษณะบางกว่าชนิดอื่น

 

  • ข้อดี ราคาถูกที่สุด มีน้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้ดี ทนต่ออากาศร้อนได้ดี
  • ข้อเสีย ผลิตไฟฟ้าได้น้อยที่สุด อายุการใช้งานสั้น และไม่เหมาะนำมาติดตั้งในภาคอุสาหกรรมและบ้านเรือน

 

ผู้ให้บริการในการติดโซล่าเซลล์

 

3.เลือกผู้ให้บริการในการติดโซล่าเซลล์

การเลือกผู้ให้บริการที่จะทำการติดโซล่าเซลล์บ้านให้กับคุณ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น เรื่องของความเชี่ยวชาญ การได้รับมาตรฐาน ราคาการติดตั้ง และการบริการหลังการขาย เป็นต้น

งบประมาณในการติดตั้ง

หากเทียบกับสมัยก่อนการติดตั้งโซล่าเซลล์จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันราคาการติดตั้งนั้นลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นโซล่าเซลล์ ความยากง่ายในการติดตั้ง และจำนวนแผ่นที่จะติดตั้ง

 

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการหลากหลายบริษัทก็จะมีการบริการ และราคาที่แตกต่างกันออกไป คุณควรทำการเลือกผู้ให้บริการอย่างน้อย 2-3 บริษัท จากนั้นทำการเปรียบเทียบราคา ข้อดี ข้อเสีย การให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ

เลือกผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้ง

เนื่องจากหลายคนหันมาสนใจติดโซล่าเซลล์บ้านมากขึ้น ทำให้ในตลาดมีผู้ให้บริการติดตั้งโซล่าเซลล์ค่อนข้างเยอะ แต่คุณควรเลือกผู้ให้บริการที่เชี่ยวชาญ และมีความน่าเชื่อถือ เพราะหากเลือกผู้ให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่เชี่ยวชาญจริงๆ จะทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาได้ อย่าลืมว่านี่เป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้น การเลือกผู้ให้บริการที่มีความชำนาญจริงๆ และได้รับมาตรฐานเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

การให้บริการหลังการขายและการรับประกัน

ปัจจัยสำคัญในการเลือกผู้ให้บริการติดตั้งโซล่าเซลล์ควรศึกษาการให้บริการหลังการขายและการรับประกันให้ถี่ถ้วน เพื่อเป็นการป้องกันหากแผงโซล่าเซลล์เกิดปัญหา โดยปกติแล้วการรับประกันจะแบ่งออกเป็น2 ส่วนดังนี้

 

  • รับประกันสินค้า 10 ปี
  • รับประกันประสิทธิภาพของแผง 25 ปี

 

แต่บางผู้ให้บริการก็จะมีระยะเวลาในการรับประกันแตกต่างกัน และมีการรับประกันอุปกรณ์อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คอนโทรลเลอร์ ชาร์เจอร์, อินเวอร์เตอร์ ออฟกริด ,ไฮบริด ออฟกริด,อินเวอร์เตอร์ ออนกริด เฉลี่ยการรับประกันประมาณ 1 ปี

 

การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์

 

4.ทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซล่าเซลล์

หลังจากที่ตรวจความพร้อมของสถานที่ รู้ชนิดของแผงโซล่าเซลล์ และเลือกผู้ให้บริการในการติดตั้งไปแล้ว มาสู่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การทำเรื่องขอติดโซล่าเซลล์บ้าน ขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือนเลยทีเดียว และรายละเอียดของการขออนุญาตนั้น อาจจะแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ แต่หากเป็นการติดโซล่าเซลล์ที่ใช้สำหรับบุคคลจะมีขั้นตอนดังนี้

 

  • ก่อนเริ่มการติดตั้งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เข้าไปทำการสำรวจสถานที่ ทำการวัดขนาด และทิศทางของการติดตั้ง
  • ผู้ขออนุญาตติดตั้งต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เข้าไปยื่นที่การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเอกสารที่ต้องนำไปยื่นคือ 
      • รูปถ่ายแสดงการติดตั้งของอุปกรณ์
      • สำเนาหลักฐานการยื่นแจ้งราชการส่วนท้องถิ่น ในขั้นตอนนี้คุณสามารถทำเรื่องขอไปที่ สำนักงานเขต เพื่อทำการแจ้งขอติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนที่พักอาศัย
      • ในกรณีต่อเดิม เปลี่ยนแปลงอาคารไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ต้องแจ้งให้ทางวิศวกรโยธาเข้ามาตรวจสอบและเซ็นรับรอง เพื่อนำเอกสารชุดนี้ไปยื่นขอใบอนุญาต อ.1 ที่สำนักงานเขต
      • แจ้งทางโยธาพร้อมวิศวกรโยธาที่มีใบ กว. เข้าไปตรวจความพร้อมในการติดตั้ง เพื่อทำการรับรองว่าสถานที่อยู่อาศัยมีความพร้อม
      • เอกสาร Single line Diagram ที่ถูกลงนานด้วยวิศวกรไฟฟ้าที่มีใบ กว. รับรอง
      • รายละเอียดของแผงโซล่าเซลล์
      • รายการตรวจสอบมาตรการด้านการออกแบบ

                                   

จะเห็นได้ว่าการทำเรื่องขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์นั้น จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกด้วย แต่ถึงอย่างไร ก็มีผู้ให้บริการหลายบริษัทที่รับเป็นตัวแทนในการดำเนินการขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้คุณสามารถประหยัดเวลาได้

 

ดูแลแผงโซล่าเซลล์

 

5.การดูแลแผงโซล่าเซลล์

เมื่อติดโซล่าเซลล์บ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณควรหมั่นดูแล ตรวจสอบสภาพแผงโซล่าเซลล์อยู่เสมอ ซึ่งหากขาดการดูแลและตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้การทำงานและประสิทธิภาพการรับแสงน้อยลง ในการดูแลรักษาสามารถตรวจสอบได้ตามนี้

 

  • หมั่นตรวจสอบสภาพของแผงโซล่าเซลล์ว่ามีรอยร้าว รอยแตก สีของแผงต่างไปจากเดิมหรือไม่
  • ทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์เป็นประจำ เพื่อขจัดคราบฝุ่นและสิ่งสกปรกที่ติดบนแผง อุปกรณ์ที่สามารถใช้ทำความสะอาดได้ควรเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ทำให้เกิดรอยข่วน เช่น แปรงขนไนลอน ผ้า หรือฟองน้ำ นำไปชุบด้วยน้ำเปล่า เพื่อล้างทำความสะอาดได้ ความถี่ในการทำความสะอาดควรอยู่ที่ 4-5 ครั้งต่อปี และควรเลือกล้างในช่วงเช้า
  • เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดจากแมลง หรือสัตว์ตัวเล็ก คุณควรทำการตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแผงโซล่าเซลล์อยู่เสมอ เช่น แบตเตอรี่ สายไฟ กล่องอุปกรณ์ต่างๆ
  • การเลือกใช้บริการผู้เชี่ยวชาญในตรวจสอบและทำความสะอาด มีผู้ให้บริการหลายบริษัทที่เปิดรับตรวจสอบและทำความสะอาด แต่ราคาในการให้บริการก็จะแตกต่างกันออกไป

 

ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในเบื้องต้นไปแล้ว คงทำให้หลายๆ คนสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากคุณไม่แน่ใจว่าสถานที่อยู่อาศัยของคุณสามารถติดโซล่าเซลล์บ้านได้หรือไม่ ก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไปยังบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ เพื่อเป็นการขอคำแนะนำและปรึกษาก่อนการติดตั้งจริงอีกครั้ง

RELATED ARTICLES