LIVING SERIES
  • Witty Living

10 เทคนิคเลี้ยงลูกเชิงบวก กระชับความสัมพันธ์ สร้างครอบครัวที่มีความสุข

บทความที่จะแนะนำวิธีเพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อ แม่ และลูก ส่งผลให้ครอบครัวมีความสุขและใกล้ชิดกันมากขึ้น

AP THAILAND

AP THAILAND

“สถาบันครอบครัว” เป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะเด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นคนเช่นไรในสังคม ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และด้วยความที่เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทำให้การเลี้ยงลูกเชิงบวกของแต่ละครอบครัวจึงแตกต่างกันไปตามอุปนิสัยของพวกเขา

 

ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องให้คำแนะนำ ให้ความรัก ความเข้าใจ กระตุ้นให้ลูกได้รู้จักการคิดวิเคราะห์ และสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในอนาคต

 

 

10 เทคนิคเลี้ยงลูกเชิงบวกพร้อมสานสัมพันธ์ครอบครัว

ที่ผ่านมาหลายครอบครัวของสังคมไทยมักอาศัยวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกเชิงอำนาจ ผนวกกับพื้นฐานของลูกที่ให้ความเคารพต่อพ่อแม่อยู่แล้ว หลายๆ ครอบครัวจึงใช้โอกาสนี้วางอำนาจเหนือลูก รวมถึงใช้ความรุนแรง (เช่น การตี) เพื่อให้เกิดความหลาบจำ แม้จะดูเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กตัวเล็กๆ แล้วมันจะกลายเป็นภาพจำฝังใจ ทำให้เด็กหลายๆ คนเกิดความกลัว ไม่กล้าออกความคิดเห็น ไม่กล้าทำในสิ่งต่างๆ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวแม้ว่าพวกเขาจะโตขึ้นแล้วก็ตาม

 

ซึ่งตรงข้ามกับการเลี้ยงลูกเชิงบวกอย่างสิ้นเชิง ที่ใช้ความรัก ความเข้าใจ และการชื่นชมให้กำลังใจลูก วิธีการเหล่านี้ถือเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้ดีอีกด้วย

ด้วยหลักการในการเลี้ยงลูกเชิงบวก จะเน้นส่งเสริมให้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ได้ทำงาน แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ สมองส่วนคิด (สมองส่วนบวก), สมองส่วนอารมณ์ (สมองส่วนกลาง) และสมองส่วนสัญชาตญาณ (สมองส่วนล่าง) ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเติบโตมาเป็นเด็กฉลาด รู้จักคิด กล้าแสดงออก โดยที่ไม่จำเป็นต้องต่อว่าทุบตีเลย

โดย 10 เทคนิคเลี้ยงลูกเชิงบวกนั้น มีด้วยกันดังนี้

 

 

1. เป็นแบบอย่างที่ดี

การสอนที่ดีที่สุดคือ “การเป็นแบบอย่างที่ดี” ให้กับลูก ในสายตาพ่อแม่อาจเห็นว่าลูกยังเล็กคงไม่รู้เรื่องอะไร แต่แท้จริงแล้วลูกแอบมองพฤติกรรมของพ่อแม่อยู่ ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ทำหรือพูดออกไปนั้น ลูกได้บันทึกเอาไว้ในความทรงจำเรียบร้อยแล้ว

 

ยกตัวอย่าง หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกพูด “ขอบคุณ” พ่อแม่ควรพูดให้ลูกได้ยินก่อน และสม่ำเสมอ ลูกจะวิเคราะห์และสรุปได้ว่าสิ่งนี้คือ สิ่งที่ควรทำและเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

 

2. ใช้เหตุและผลในการเลี้ยง

เพราะความที่เด็กยังเล็กมาก ยังมีอะไรหลายๆ อย่างบนโลกที่ลูกยังไม่รู้ อาจทำอะไรลงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พ่อแม่ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตมามากกว่า ควรตั้งสติ  ใจเย็น และพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล หากลูกยังไม่เข้าใจว่าเขาทำผิดอะไร ให้พ่อแม่พูดคุยกับลูกด้วยทีท่าที่อ่อนโยน แล้วเท้าความเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่ม เพื่อให้ลูกได้คิดตาม พร้อมกับอธิบายว่าสิ่งที่ผิดที่ลูกไม่ควรทำคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ควรทำ 

 

 

3. เลี่ยงการตำหนิในเรื่องเล็กน้อย

อย่างที่ได้กล่าวมาว่าด้วยความที่ลูกยังเล็ก ยังมีอะไรหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ แต่บางครั้งหากสิ่งที่ลูกทำผิดนั้น เป็นเรื่องเล็กน้อย พ่อแม่สามารถปล่อยผ่านได้เลย

 

เพราะการที่ตำหนิลูกในทุกๆ เหตุการณ์ที่ลูกทำผิดจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองถูกจับผิดตลอดเวลา ส่งผลต่อความคิดลูก ทำให้ไม่กล้าทำอะไร รอพ่อแม่สั่งอย่างเดียว ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

 

4. รักษาสัญญา

ด้วยหลักการของการ “รักษาสัญญา” ของพ่อแม่ คือ กระบวนการที่สร้าง “ความเชื่อใจ” ให้กับลูก และสร้างภาพจำที่ดีให้พวกเขาเช่นกัน

 

เช่น หากสัญญาไว้ว่าจะพาไปเที่ยวในตอนเย็น ก็ควรจะรักษาคำพูดและทำเช่นนั้น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขารู้ว่าการรักษาสัญญาเป็นอย่างไร และจะทำให้การสอนเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกด้วย เช่น เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่พูดว่า หากลูกยังไม่ตั้งใจกินข้าว ครบ 30 นาทีเมื่อไหร่ พ่อแม่จะเก็บทันที ลูกก็จะเรียนรู้ว่า หากครบกำหนดแล้วพ่อแม่เก็บจานแน่นอน

 

5. สอนให้เข้าใจคนอื่น

เพราะคนแต่คละคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษา การสอนให้เข้าใจคนอื่นนับเป็นการเลี้ยงลูกเชิงบวกในลำดับต้นๆ ที่พ่อแม่ควรปลูกฝังลูก เพราะการสอนให้ลูกเข้าใจคนอื่น จะทำให้ลูกเข้าใจพื้นฐานของความเป็นคน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา อะไรที่ลูกไม่ชอบก็ไม่ควรไปทำกับคนอื่นเช่นนั้นเหมือนกัน อาจเริ่มจากคนในบ้านอย่างพ่อแม่ก่อน เช่น ลูกไม่ชอบให้พ่อแม่ใช้อารมณ์กับลูก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็ไม่ชอบที่ลูกมาใช้อารมณ์กับพ่อแม่เช่นกัน

 

 

6. ให้เขาได้ใช้ความคิดของตนเอง

เป็นเรื่องปกติที่ในบางวันอาจมีบางเรื่องที่พ่อแม่ลูกมีความเห็นไม่ตรงกัน หากเป็นเช่นนี้ ให้พ่อแม่ถามลูกว่าเพราะอะไรลูกถึงคิดเช่นนั้น และถ้าเป็นลูกจะมีทางออกอย่างไร จากนั้น ให้พ่อแม่อธิบายว่า หากลูกทำเช่นนั้นจะส่งผลดีและผลเสียอย่างไรบ้าง เป็นการชักชวนลูกให้คิดวิเคราะห์ไปพร้อมกัน
 
 
 

7. ชมอย่างจริงใจ

หลายครอบครัวมองว่า “การชื่นชมลูก” จะทำให้ลูกเหลิง ซึ่งความจริงแล้วการชื่นชมลูกตามสมควรนั้นเป็นการเพิ่มกำลังใจให้ลูก ลูกจะรู้จักคุณค่าในตัวเอง และรู้จักเคารพตัวเอง เห็นว่าตัวเองมีความสำคัญกับพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เห็นลูกมีความสุขก็เป็นอีกหนึ่งวิธีทำให้ครอบครัวมีความสุขได้เช่นกัน

 

 

8. ฟังอย่างตั้งใจ

เรื่องเล็กน้อยของลูกในหลายๆ เรื่องอาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขา หรือแม้แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูกมีปัญหามาปรึกษา พ่อแม่ควรวางมือจากกิจกรรมอื่นสักพัก แล้วฟังลูกอย่างตั้งใจ ฟังลูกพูดให้จบ ไม่ควรพูดแทรกในขณะที่ลูกพูด แต่อาจมีการพยักหน้าตอบรับลูกเป็นระยะ สิ่งนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่ใส่ใจเขาและพร้อมที่จะรับฟังเขาเสมอ ทำให้เขากล้าคิดกล้าทำ และกล้าแสดงออกมากขึ้น

 

9. ยอมรับผิดบ้าง

เพราะคนเราไม่มีใครทำถูกต้องทุกอย่าง และไม่มีใครทำผิดไปเสียทุกอย่าง แม้แต่พ่อแม่เองก็สามารถทำผิดพลาดได้เช่นกัน การขอโทษลูกไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่สิ่งนี้จะเป็นการสอนลูกให้กล้าทำ กล้ารับ รู้จักการขอโทษ และพร้อมที่จะแก้ไข

 

10. สอนให้เขามองโลกในแง่ดี

การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่การหลอกตัวเอง เพียงแต่การมองโลกในแง่ดีคือ การสอนให้ลูกเลือกมองสิ่งที่ดีแม้ในวันร้ายๆ การมองโลกในแง่ดีเป็นการให้กำลังใจตัวเองได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะหลายต่อหลายครั้ง ที่พบว่าคนอื่นที่รู้สึกท้อหรือหมดหวังในชีวิต มักเกิดจากการโทษตัวเอง ให้อภัยตัวเองไม่เป็น และการมองโลกในแง่ลบ

 

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องเลี้ยงลูกเชิงบวก

การเลี้ยงลูกเชิงบวกนอกจากจะเป็นการส่งต่อพลังด้านบวกให้ลูกแล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้ดีอีกด้วย แล้วพ่อแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรหากจะเปลี่ยนมาเลี้ยงลูกตามแนวทางนี้บ้าง

  • จัดการกับอารมณ์ของตนเองก่อนสอนลูก

เมื่อใดก็ตามที่ลูกหงุดหงิด โวยวาย หรือทำข้าวของเสียหายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันดับแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ จัดการกับอารมณ์ของตัวเองก่อน สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วให้คิดว่าเราอยากเห็นภาพลูกในอนาคตเป็นเด็กเช่นไร จากนั้นเดินเข้าไปพูดคุยกับลูกด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่อ่อนโยน

 

 

  • ไม่ใช้คำพูดเชิงลบ

คำพูดเชิงลบที่ออกมาจากปากพ่อแม่ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ เท่ากับเป็นการสร้างแผลเป็นในใจลูก คำพูดเชิงลบ ได้แก่ “ทำไมเรียนไม่เก่งเหมือนเด็กบ้านนั้นเลย” หรือ “ทำไมทำอะไรไม่เป็นเลยสักอย่าง” เป็นต้น สุดท้ายเด็กจะจดจำในสิ่งที่พ่อแม่พูดและทำ และพร้อมส่งต่อพลังด้านลบให้คนรอบข้างเมื่อเขาโตขึ้น

 

 

  • เริ่มเลี้ยงลูกเชิงบวกตั้งแต่เล็กๆ

เด็กทารกแม้จะยังไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่เป็นภาษาพูดที่เข้าใจได้ แต่ลูกสามารถรับรู้ได้ถึงสิ่งที่พ่อแม่มอบให้ผ่านท่าทีและน้ำเสียงที่อ่อนโยน ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกร้องไห้ พ่อแม่ก็ตอบสนองลูกเชิงบวกด้วยการเข้ามาอุ้ม และปลอบประโลม ซึ่งเขาก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่ใกล้ๆ กับเขาเสมอ

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกเรื่องสำคัญที่ควรคำนึง

บ้านจะอบอุ่นน่าอยู่ก็ต้องอาศัยคนในครอบครัวช่วยกันสร้างขึ้นมา การเลี้ยงลูกในเชิงบวกเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกนั้นแน่นแฟ้นขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น นอกจากนี้ ลูกที่ได้รับการเลี้ยงดูในเชิงบวกตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นเด็กที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ), มีความฉลาดทางปัญญา (IQ) และรู้จักคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) อีกด้วย

 

พ่อแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกเชิงบวก ควรเลี่ยงการใช้คำพูดที่รุนแรงไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เพราะมันจะกลายเป็นบาดแผลในใจลูกชนิดที่โตตามตัว ไม่สามารถหายไปจากใจของลูกได้ แต่การเลี้ยงลูกเชิงบวกเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกที่เน้นมอบความรักที่ถูกทาง เน้นความเข้าใจของพ่อแม่ และคนในครอบครัว ด้วยหลักการในการเลี้ยงลูกแนวนี้ คือ การสอนลูกให้คิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ทางแก้ไข รวมไปถึงผลกระทบทั้งด้านลบ และด้านบวกว่าคืออะไรด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่อ่อนโยน เพื่อให้ลูกได้ซึมซับไปจนโต และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความเข้าใจและมีความสุข

RELATED ARTICLES