KNOW HOW
  • Home Guide

ทะเบียนบ้านสำคัญอย่างไร มีอะไรบ้างที่ควรรู้?

รู้จักกับทะเบียนบ้านว่าคืออะไร มีกี่ประเภท ขั้นตอนการขอจะต้องเตรียมเอกสารและมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องน่ารู้อื่นๆ ที่คนมีบ้านควรทราบ

AP THAILAND

AP THAILAND

รู้จักกับทะเบียนบ้านว่าคืออะไร

Main Points

 

  • ทะเบียนบ้านคือเอกสารราชการชิ้นสำคัญ ที่ใช้สำหรับระบุข้อมูลของที่อยู่อาศัย ทั้งตัวอาคารและบุคคลที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม หรือคอนโดมิเนียม ต่างก็ต้องทำทะเบียนบ้านกันทั้งสิ้น
  • การขอทะเบียนบ้านจะต้องทำภายใน 15 วัน หลังสร้างบ้านเสร็จแล้ว โดยจะต้องยื่นเอกสารที่สำนักทะเบียน เพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบ และจัดทำหลักฐานทะเบียนบ้านให้เรียบร้อย

 

ไม่ว่าจะอยู่อาศัยในที่อยู่แบบไหน ทะเบียนบ้านก็เป็นเอกสารที่ทุกครอบครัวต้องมี เพราะเป็นเอกสารที่สำคัญทางกฎหมายตามมาตรา 4 พรบ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ 2534 แล้วเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับทะเบียนบ้านจะมีอะไรบ้างที่น่ารู้ วันนี้เอพีพร้อมให้คำตอบกับคนมีบ้านทุกคนแล้ว

 

 

ทะเบียนบ้านคืออะไร?

ทะเบียนบ้านประเทศไทย

 

ทะเบียนบ้าน คือ เอกสารราชการที่นายทะเบียนออกให้กับสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างใหม่ เป็นเอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม บ้านแฝด หรือคอนโดมิเนียม ต่างก็ต้องทำทะเบียนบ้าน โดยข้อมูลภายในเอกสารนี้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับบ้าน และข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งอาจจะอยู่หรือไม่อยู่อาศัยในบ้านก็ได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

1. ข้อมูลเกี่ยวกับบ้าน 

  • รหัสประจำบ้าน เป็นเลข 11 หลัก ที่มีความหมายเกี่ยวกับจังหวัด อำเภอ ลำดับของบ้านในพื้นที่ของสำนักทะเบียน
  • รายละเอียดที่อยู่ เป็นการระบุรายละเอียดอย่างเป็นทางการ โดยที่อยู่นี้ใช้กรอกเอกสารทั่วไปได้ ประกอบด้วย บ้านเลขที่ หมู่ ถนน แขวงหรือตำบล เขตหรืออำเภอ และจังหวัด
  • ชื่อหมู่บ้านหรือชื่อบ้าน เป็นการระบุชื่อหมู่บ้านหรือโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ 
  • ประเภทและลักษณะบ้าน เป็นการระบุรูปแบบบ้าน เช่น บ้าน อาคารชุด ตึกแถว
  • วันกำหนดเลขที่บ้าน เป็นการระบุวัน เดือน และปี ที่กำหนดบ้านเลขที่ขึ้น 

 

2. ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล

  • สถานภาพ ชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านจะมีสถานะ 2 ประเภท ได้แก่ เจ้าบ้านซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ครอบครองบ้าน และผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
  • ข้อมูลทั่วไป เป็นข้อมูลเฉพาะ ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน ชื่อบิดามารดา สัญชาติ เพศ วันเดือนปีเกิด และประวัติการย้ายที่อยู่

 

 

รู้หรือไม่? เจ้าบ้าน กับ เจ้าของบ้าน ไม่เหมือนกัน

ถึงชื่อจะดูใกล้เคียงมาก แต่เจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน กับเจ้าของบ้านนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะการเป็นเจ้าบ้านไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นเจ้าของบ้านนั่นเอง อีกทั้งหน้าที่ก็ยังไม่เหมือนกันอีกด้วย โดยแตกต่างกันดังต่อไปนี้

 

คุณสมบัติ

เจ้าบ้าน

เจ้าของบ้าน

ความหมาย

ผู้เป็นหัวหน้าครอบครองบ้าน จะเป็นเจ้าของบ้าน ผู้เช่า หรือฐานะอื่นๆ ก็ได้

ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน

หน้าที่

แจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งย้ายเข้า-ย้ายออก เปลี่ยนบ้านเลขที่ และความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในบ้าน

ผู้มีสิทธิ์ขายและโอนบ้านตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยังแต่งตั้งเจ้าของบ้านได้ด้วย

 

 

ทะเบียนบ้านมีกี่ประเภท?

การทำทะเบียนบ้านนั้นไม่ได้มีแค่ประเภทเดียวเท่านั้น แต่ยังมีแบบอื่นๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นให้ตรงกับเงื่อนไขต่างๆ สำหรับประเภทของทะเบียนบ้านจะมีอะไรบ้างที่ควรรู้จักไว้ เอพีสรุปมาให้ดูกันง่ายๆ แล้วดังต่อไปนี้

 

ประเภททะเบียนบ้าน

ลักษณะ

ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)

ใช้สำหรับลงรายชื่อผู้ที่มีสัญชาติไทย และคนต่างด้าวที่มีเอกสารยืนยันถูกต้อง

ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13)

ใช้ลงรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าเมืองแบบถูกกฎหมายในลักษณะชั่วคราว หรือเข้าเมืองแบบไม่ถูกกฎหมาย

ทะเบียนบ้านกลาง

ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้านทั่วไป

ทะเบียนบ้านชั่วคราว

ใช้สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่สร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เช่น สร้างในที่สาธารณะ บุกรุกป่าสงวน

ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน

ใช้สำหรับลงชื่อผู้แจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) และจะย้ายไปยังที่อยู่ใหม่

 

 

 

ขอทะเบียนบ้านควรรู้อะไรไว้ก่อนบ้าง?

หน่วยงานราชการไทย

 

การขอทะเบียนบ้านจำเป็นจะต้องยื่นเรื่องให้เรียบร้อยภายใน 15 วัน หลังสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากไม่ทำให้เรียบร้อย จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยเอกสารและขั้นตอนการทำมีดังต่อไปนี้

 

เอกสารที่ใช้ขอทะเบียนบ้าน

  • ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน หรือเอกสาร ท.ร.9 ซึ่งออกโดยหน่วยงานท้องถิ่นที่อาคารที่อยู่ศัยตั้งอยู่
  • ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือหนังสือรองรับสิ่งปลูกสร้าง ว่าถูกต้องตามกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง หรือจะเตรียมหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านด้วยก็ได้
  • เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ หรือโฉนดที่ดิน 
  • สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน กรณีมอบอำนาจจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบ

 

ขั้นตอนการขอทะเบียนบ้าน

  • ยื่นเอกสาร เตรียมเอกสารและยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนในพื้นที่ที่บ้านตั้งอยู่ โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารต่อไป
  • รอการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารให้เรียบร้อย และจะออกเลขที่บ้านให้ภายใน 7-30 วัน แล้วแต่กรณี 
  • ออกเลขที่บ้าน นอกจากเลขที่บ้าน เจ้าหน้าที่จะออกสมุดทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้านด้วย โดยเจ้าของบ้านสามารถทำป้ายเลขที่ติดหน้าบ้านได้เลย
  • ย้ายบุคคลเข้า หลังออกบ้านเลขที่และทะเบียนบ้านเรียบร้อยแล้ว ก็ย้ายชื่อบุคคลเข้าทะเบียนบ้านต่อได้เลย

 

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ชื่อ” ในทะเบียนบ้าน

เอกสารเกี่ยวกับบ้าน

 

ทะเบียนบ้านไม่มีชื่อได้หรือไม่?

หากไม่สามารถหาชื่อมาใส่ในทะเบียนบ้านได้จริงๆ ก็ปล่อยทะเบียนให้ว่างไว้ได้ แต่จะส่งผลต่อเรื่องภาษี เพราะหากต้องการขายบ้านหรือคอนโดที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และถือครองไม่ถึง 1 ปี จะต้องเสียภาษี เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 กำหนดให้ยกเว้นภาษีสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี นั่นเอง

 

แจ้งชื่อย้ายเข้าหรือย้ายออกต้องทำอย่างไร?

การแจ้งชื่อย้ายเข้าหรือย้ายออกถือเป็นหน้าที่ที่เจ้าบ้านจะต้องทำ โดยจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่มีการย้ายเข้าหรือย้ายออก ไม่เช่นนั้นอาจมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยเกณฑ์การย้ายชื่อเข้า-ออกจากทะเบียนทำได้ดังต่อไปนี้

 

ย้ายเข้า 

เจ้าบ้านจะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียน ในพื้นที่ที่จะย้ายเข้า หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว จะมอบทะเบียนบ้านคืนให้กับผู้แจ้ง โดยเอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่

 

  • สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) 
  • บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
  • กรณีเจ้าบ้านไม่ได้แจ้งย้ายด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน 
  • ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว

 

ย้ายออก 

สำหรับการย้ายออกเจ้าบ้านก็ต้องยื่นเอกสารต่อนายทะเบียนเช่นกัน โดยจะต้องอยู่ในพื้นที่ในทะเบียนบ้าน หลังตรวจสอบเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่จะประทับคำว่า “ย้าย” ไว้บนใบแจ้งการย้ายที่อยู่ โดยเอกสารที่จะต้องเตรียมให้พร้อมมีดังนี้

 

  • สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
  • บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
  • กรณีเจ้าบ้านไม่ได้แจ้งย้ายด้วยตนเอง หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้า
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่กรณีแจ้งย้ายที่อยู่ของตนเอง

 

ใส่ชื่อในทะเบียนบ้านอย่างไร ถ้าซื้อบ้านไว้หลายหลัง?

เพื่อป้องกันผลกระทบเรื่องการเลือกตั้ง ตามกฎหมายจึงกำหนดให้บุคคลมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านได้แค่ฉบับเดียวเท่านั้น จะเป็นเจ้าบ้านในบ้านหลายหลังไม่ได้ สำหรับใครที่ซื้อที่อยู่อาศัยไว้หลายที่ สำหรับลงทุนให้เช่าหรือขายต่อ ก็ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีใช้ชื่อคนในครอบครัว หรือญาติ มาใส่เป็นเจ้าบ้านแทนก็ได้

 

 

 

หาบ้านหลังใหม่ อย่าลืมให้เอพีเป็นทางเลือกที่ใช่ของทุกครอบครัว

ได้รู้จักกับทะเบียนบ้านกันไปมากขึ้นแล้ว อย่าลืมศึกษารายละเอียดให้ดี เตรียมเอกสารให้พร้อม เมื่อถึงเวลาขอทะเบียนบ้านจะได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ติดขัดหรือเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา และถ้าอยากได้บ้านหลังใหม่อย่าลืมให้เอพีเป็นทางเลือกที่ใช่สำหรับทุกคน

 

สำหรับใครที่อยากมีบ้านหลังแรก เอพี พร้อมเติมเต็มเป้าหมาย ชีวิตดีๆ ในพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเองได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว บ้านแฝดดีไซน์สวยพื้นที่ใช้สอยจัดเต็ม ทาวน์โฮมทำเลดีสำหรับก้าวใหม่ของชีวิต คอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าเดินทางสะดวก และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋ง รองรับทุกธุรกิจ ก็เลือกให้ตอบโจทย์ได้เลย เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย

 

 

EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ

RELATED ARTICLES