MAIN POINT
- วิธีกำจัดเชื้อราในบ้าน สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ตัวช่วยต่าง ๆ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำยาซักผ้าขาว แอลกอฮอล์ เบกกิ้งโซดา หรือน้ำยากำจัดเชื้อราและตะไคร่ ทั้งนี้ควรทำควบคู่กับการป้องกันความชื้นแบบถาวร เพื่อไม่ให้เชื้อรากลับมาอีกครั้ง
- วิธีป้องกันไม่ให้เชื้อรากลับมาอีก ควรเริ่มจาการเริ่มจากการป้องกันความชื้นแบบถาวร เช่น เปลี่ยนตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ไปตรงจุดที่มีแดดหรือระบายอากาศได้ดี เปิดหน้าต่างหรือติดพัดลมดูดอากาศให้อากาศถ่ายเท หมั่นทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้า เครื่องนอนอยู่เสมอ พร้อมซ่อมแซมรอยรั่วรอยแตกเพื่อป้องกันความชื้นสะสม
วิธีกำจัดเชื้อราในบ้านให้หายเกลี้ยง พร้อมวิธีป้องกันแบบถาวร
เชื้อรา คราบดำ ที่เกิดจากความชื้นสะสม ปัญหาชวนปวดหัวที่ครอบครัวไหนก็ไม่อยากเจอ เพราะทำลายทั้งพื้นผิวผนัง เฟอร์นิเจอร์ และมุมต่าง ๆ ของบ้านให้ดูโทรม และยังกระทบต่อสุขภาพของคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้และโรคหอบหืด บทความนี้ AP Thai ได้รวบรวมวิธีกำจัดเชื้อราในบ้านให้หายเกลี้ยง พร้อมบอกสาเหตุและวิธีป้องกันเชื้อราแบบถาวร เพื่อให้บ้านสวยสะอาด น่าอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย
รวมวิธีกำจัดเชื้อราในบ้านให้หายเกลี้ยง
1. ตัวช่วยหลายแบบ ช่วยกำจัดเชื้อราบนพื้น ผนัง และยาแนว
พื้น ผนัง และยาแนวตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน โดยเฉพาะในห้องน้ำและห้องครัว มักเผชิญกับความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการสะสมของคราบสกปรกและเชื้อรา ลองใช้ทริกที่ AP Thai นำมาฝากกัน
1. น้ำส้มสายชู
- คุณสมบัติ: น้ำส้มสายชูมีส่วนผสมจากกรด Acetic Acid ซึ่งมีค่า pH 2.5 ฆ่าเชื้อราได้ประมาณ 82% รวมถึงช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราในอนาคต
- วิธีใช้น้ำส้มสายชูกำจัดเชื้อรา: เทน้ำส้มสายชูลงในขวดสเปรย์ โดยไม่ต้องผสมน้ำ ฉีดลงบริเวณจุดที่มีเชื้อรา แล้วทิ้งไว้ประมาณ 30-60 นาที จากนั้นขัดออกด้วยแปรงแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ข้อควรระวังสำหรับการใช้น้ำส้มสายชูกำจัดเชื้อรา:
- หลีกเลี่ยงการผสมน้ำส้มสายชูกับน้ำยาฟอกผ้าขาว: เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สคลอรีนที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ แสบร้อนในตา จมูก และลำคอ
- ไม่ควรผสมน้ำส้มสายชูกับเบกกิ้งโซดาโดยตรง: เพราะจะเกิดปฏิกิริยาทำลายล้าง (Acid-base Neutralization) ลดประสิทธิภาพในการทำความสะอาด แนะนำให้แยกขั้นตอน โดยเริ่มจากขัดด้วยเบกกิ้งโซดาก่อน แล้วตามด้วยน้ำส้มสายชูในภายหลัง
2. น้ำยาซักผ้าขาว
- คุณสมบัติ: น้ำยาซักผ้าขาวมีส่วนผสม Sodium Hypochlorite 6% สำหรับฆ่าเชื้อ ทำลายผนังเซลล์ของจุลชีพ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส
- วิธีใช้น้ำยาซักผ้าขาวกำจัดเชื้อรา: ผสมน้ำยาซักผ้าขาว 1 ถ้วย ประมาณ 240 มล. กับน้ำสะอาด 1 แกลลอน ประมาณ 3.8 ลิตร แล้วถูเบา ๆ หากพื้นผิวมีความหยาบควรใช้แปรงแข็ง ๆ ขัดทำความสะอาด แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
3. แอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol 60-90%)
- คุณสมบัติ: แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีในความเข้มข้นประมาณ 60-90% เหมาะสำหรับกำจัดเชื้อราที่ไม่ฝังลึกมาก
- วิธีใช้แอลกอฮอล์กำจัดเชื้อรา: ขัดคราบเชื้อราออกด้วยแปรงทำความสะอาด จากนั้นใช้แอลกอฮอล์เข้มข้น 60-90% เทราดหรือฉีดพรมบริเวณที่มีเชื้อราจนเปียกชุ่ม แล้วเช็ดคราบเชื้อราออกด้วยผ้าสะอาด
4. เบกกิ้งโซดา
- คุณสมบัติ: เบกกิ้งโซดาเป็น Sodium Bicarbonate มีฤทธิ์เป็นด่าง ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้
- วิธีใช้เบกกิ้งโซดากำจัดเชื้อรา: ผสมเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำเปล่า 1 ถ้วย คนให้เข้ากัน แล้วเทใส่ขวดสเปรย์ ฉีดพรมบริเวณที่มีเชื้อราทิ้งไว้ 30 นาที จากนั้นขัดออกด้วยแปรง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
5. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
- คุณสมบัติ: ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยสลายองค์ประกอบสำคัญ อย่างโปรตีน และดีเอ็นเอ เหมาะสำหรับกำจัดเชื้อราบนพื้นผิวเรียบ เช่น กระจก ผนัง
- วิธีใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กำจัดเชื้อรา: เทไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% ลงในขวดสเปรย์ ฉีดพรมบริเวณที่มีเชื้อรา ทิ้งไว้ 10-15 นาที จากนั้นขัดออกด้วยแปรง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
2. น้ำยากำจัดเชื้อราและตะไคร่ ใช้ได้ทั้งผนังภายในและภายนอก
ใช้น้ำยากำจัดเชื้อราและตะไคร่โดยเฉพาะ โดยเริ่มจากทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำสะอาด ทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จากนั้นทาหรือพ่นน้ำยาตามอัตราส่วนที่ระบุ เมื่อผนังแห้งสนิทแล้วค่อยทาสีหรือตกแต่งผนังเพิ่มเติม
3. น้ำเดือดช่วยกำจัดเชื้อราบนเสื้อผ้า
นำเสื้อผ้าที่มีคราบเชื้อรา แช่ลงในน้ำเดือด ทิ้งไว้ประมาณ 15–30 นาที จากนั้นซักตามปกติด้วยผงซักฟอก หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการขจัดคราบ ควรใช้น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรด์ โดยผสมน้ำยาในอัตราส่วน 1 ฝา ต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วแช่ผ้าไว้ประมาณ 5–15 นาที ก่อนนำไปซักซ้ำอีกครั้ง หลังจากซักเสร็จควรตากผ้าในที่แดดจัดจนแห้งสนิท เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราและกลิ่นอับซ้ำอีกในอนาคต
4. แดดจัดช่วยกำจัดเชื้อราบนที่นอน
นำที่นอนออกตากแดดจัด อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง โดยเริ่มจากทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ผสมน้ำอุ่น จากนั้นนำไปตากแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. เนื่องจากแสงแดดที่มีรังสี UV และความร้อนจะช่วยทำลายผนังเซลล์ของเชื้อราและแบคทีเรียได้โดยตรง เมื่อแห้งดีแล้วจึงใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดทั้งสองด้านอีกครั้ง ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการวางที่นอนในบริเวณอับชื้น เช่น วางติดพื้นหรือแนบผนังที่มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อรา
วิธีป้องกันเชื้อราแบบถาวร เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต
1. ตกแต่งผนังใหม่ป้องกันเชื้อราระยะยาว
การตกแต่งผนังใหม่ เป็นหนึ่งในวิธีป้องกันการเกิดเชื้อราในระยะยาว และยืดอายุการใช้งานของพื้นผิวผนัง โดยเฉพาะในบ้านหรือห้องที่เคยมีปัญหาความชื้นหรือคราบเชื้อราสะสมซ้ำ ๆ
ขั้นตอนการตกแต่งผนังใหม่
- ลอกผนังเดิมออก: ขูดสีหรือลอกวอลเปเปอร์เดิม ใช้ปืนแรงดันสูงฉีดน้ำล้างพื้นผิว พร้อมใช้แปรงขัดคราบเชื้อราออกให้หมด จากนั้นก็ล้างน้ำอีกรอบแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
- ทาน้ำยาฆ่าเชื้อรา: ทาน้ำยาฆ่าเชื้อราตามขั้นตอนที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ โดยควรเลือกน้ำยาที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดเชื้อราหรือตะไคร่น้ำโดยเฉพาะ แล้วทิ้งไว้ให้แห้งสนิทประมาณ 3-4 ชั่วโมง
- ทากันซึมที่ผนัง: ก่อนตกแต่งผนังใหม่ เพื่อเพิ่มการป้องกันความชื้นและน้ำรั่วซึมเข้าสู่โครงสร้าง ลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อรา ยืดอายุการใช้งานของพื้นผิว และป้องกันความเสียหายเชิงโครงสร้างในระยะยาว
- ตกแต่งผนังใหม่: ทาสีบ้านที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อรา หรือเลือกวอลเปเปอร์ที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อเสริมบรรยากาศให้บ้านดูสวยงามและน่าอยู่ยิ่งขึ้น
2. เปลี่ยนตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ไปตรงจุดที่มีแดดหรือระบายอากาศได้ดี
เฟอร์นิเจอร์ที่วางอยู่ในมุมอับหรือบริเวณที่แสงแดดส่องไม่ถึง มักเกิดการสะสมความชื้นเนื่องจากอากาศถ่ายเทไม่สะดวก แนะนำให้ลองปรับตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง หรือโซฟา ไปยังจุดที่ได้รับแสงแดดหรือบริเวณใกล้หน้าต่าง นอกจากนี้ควรเว้นระยะห่างจากผนังอย่างน้อย 5 - 10 เซนติเมตร เพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก ลดความชื้นสะสมและป้องกันการเกิดเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท หรือติดพัดลมดูดอากาศ
นอกจากการเปลี่ยนตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์แล้ว การเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ยังเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความชื้นสะสมภายในบ้าน ลดความเสี่ยงของการเกิดเชื้อรา โดยแนะนำให้เปิดหน้าต่างอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อชั่วโมง กรณีที่ห้องไม่มีหน้าต่างหรือถ่ายเทอากาศได้ไม่เพียงพอ ควรติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพื่อช่วยระบายอากาศได้อย่างต่อเนื่อง โดยติดตั้งพัดลมไว้ในตำแหน่งสูงใกล้เพดานหรือบริเวณที่ความชื้นสะสมมาก
ทริกเพิ่มการระบายอากาศในห้อง กำจัดเชื้อราให้หมดจด
เปิดหน้าต่างทุกบานหรือสองบานในแนวแทยงมุม จะเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าการเปิดหน้าต่างบานเดียวถึง 10 เท่า หากไม่สะดวกเปิดหลายบาน แนะนำให้ใช้พัดลมช่วย โดยหันพัดลมให้เป่าลมออกทางหน้าต่างที่เปิดอยู่ จะช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น
4. หมั่นทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้า และเครื่องนอนอยู่เสมอ
หมั่นทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้นอย่างห้องน้ำ ห้องนอน และซอกมุมต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา โดยความถี่ในการทำความสะอาดบ้าน มีดังนี้
รายการที่ควรทำความสะอาด | ความถี่ในการทำความสะอาด |
ล้างจาน / พื้นห้องครัวและห้องน้ำ | ทุกวัน |
ห้องน้ำ / ผ้าปูที่นอน / พรม | ทุกสัปดาห์ |
โซฟาผ้า / ชั้นวางของ | ทุก 2-4 สัปดาห์ |
ฟูกนอน | 2-3 ครั้งต่อปี |
หลอดไฟ ผ้าม่าน และเบาะหุ้มเฟอร์นิเจอร์ | ทุกปี |
5. ซ่อมแซมท่อน้ำรั่ว หลังคาซึม หรือรอยแตกร้าวในผนัง
น้ำรั่วจากท่อ หลังคา หรือผนังที่เกิดรอยแตกร้าว หากปล่อยทิ้งไว้นาน ความชื้นจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่โครงสร้างของบ้าน กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราในที่สุด จึงควรตรวจสอบและซ่อมแซมจุดรั่วซึมโดยเร็ว หากพบว่าความชื้นได้สร้างความเสียหายเชิงโครงสร้าง เช่น พื้น เสา หรือคานแตกร้าวจนเห็นเหล็กเส้นเกิดสนิม ควรรีบปรึกษาวิศวกรโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยของบ้านในระยะยาว
สาเหตุของการเกิดเชื้อราในบ้าน เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
1. ความชื้นจากฝนตก
ฝนตกเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่มักกระทบโครงสร้างบ้านโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณขอบหน้าต่าง หลังคา หรือผนัง หากบ้านไม่มีระบบรางน้ำฝนที่ดี น้ำฝนอาจรั่วซึมเข้าสู่ผนังหรือเพดาน ความชื้นที่สะสมจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย และสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างบ้านในระยะยาว
2. ความชื้นที่สะสมเป็นเวลานาน
ความชื้นที่สะสมจากกิจวัตรประจำวัน อย่างการอาบน้ำ ตากผ้า ทำอาหาร รวมถึงการปลูกต้นไม้ เลี้ยงปลา สามารถกลายเป็นแหล่งสร้างความชื้นได้ โดยเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงกว่า 60% ร่วมกับอุณหภูมิประมาณ 20-30 ºC เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของเชื้อราในระยะยาว หากไม่มีการระบายความชื้นออกจากพื้นที่อย่างเหมาะสม
3. บ้านมีจุดรั่วซึม
บ้านที่มีจุดรั่วซึม ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหลังคา ผนัง รอยแตกร้าว หรือข้อต่อท่อน้ำต่าง ๆ ล้วนเป็นสัญญาณที่ชี้ถึงความเสียหายที่อาจเกิดจากความชื้น หากไม่ได้รับการตรวจสอบหรือซ่อมแซมอย่างทันท่วงที ความชื้นจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่ตัวบ้าน จนนำไปสู่การเจริญเติบโตของเชื้อรา
4. อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
บ้านที่ปิดทึบ ไม่มีการเปิดหน้าต่างหรือระบบระบายอากาศที่ดี จะทำให้ความชื้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันสะสมอยู่ภายในบ้าน ยิ่งบริเวณที่อับแสงอย่างใต้ตู้ ใต้ซิงก์ หรือมุมห้องต่าง ๆ ความชื้นจะยิ่งสะสมมากขึ้น จนกลายเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา
5. วัสดุในบ้านที่เก็บความชื้น
วัสดุในบ้านบางประเภท เช่น แผ่นยิปซัม ฉนวนกันความร้อน และไม้ สามารถดูดซับความชื้นได้ดี โดยเฉพาะเมื่อวางอยู่ในบริเวณที่อับชื้นหรือขาดแสงแดด จึงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราได้ดี อีกทั้งวัสดุพวกกระจก โลหะ หรือพลาสติก หากปล่อยให้มีฝุ่นหรือคราบเกาะสะสมอยู่บนพื้นผิว สิ่งสกปรกจะทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา
ดูแลบ้านให้สะอาดอย่างมืออาชีพ ด้วยเคล็ดลับจาก AP Thai
- เคล็ดลับแม่บ้าน ! บอกลาร่องยาแนวสกปรก ขัดให้ขาวไม่ยาก
- วิธีบอกลาคราบหินปูนเปลี่ยนกระจกให้กลับมาใสปิ๊ง
- ผนังเป็นรอยเปื้อนลบได้ง่ายๆ ด้วย ไอเทมใกล้ตัว
กำจัดเชื้อราด้วยตัวเองง่าย ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
การกำจัดเชื้อราในบ้านสามารถทำด้วยตัวเองได้ไม่ยาก หมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนมุมเฟอร์นิเจอร์ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท รวมถึงตรวจเช็กผนัง หลังคา และท่อน้ำเป็นประจำ จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อรากลับมาอีกครั้ง เพื่อให้บ้านสะอาด ปลอดภัย และน่าอยู่ในทุกวัน
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ