KNOW HOW
  • Design Ideation

รวม 9 ขั้นตอน เปลี่ยนห้องว่างให้เป็นโรงหนังขนาดเล็ก

บทความที่จะมาแบ่งปันขั้นตอนการเปลี่ยนห้องธรรมดาให้กลายเป็นโรงหนังในบ้าน พร้อมคำแนะนำ และเคล็ดลับการดูแลรักษา

AP THAILAND

AP THAILAND

ทำห้องดูหนังในบ้าน

“บ้าน” เป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนของทุกคนภายในครอบครัว และเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของสมาชิกทุกเพศ ทุกวัย โดยกิจกรรมที่ครอบครัวส่วนใหญ่มักจะนิยมทำร่วมกัน คือ การดูหนัง เพราะว่าเป็นอีกกิจกรรมที่จะทำให้สมาชิกทุกคนภายในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันได้นานมากที่สุด ดังนั้น ในบทความนี้ ทาง AP Thai จะพาทุกคนไปเปลี่ยนจากห้องธรรมดาให้กลายเป็นโรงหนังในบ้าน เพื่อช่วยสร้างห้องดูหนังขนาดเล็กภายในบ้านให้ครอบครัวของคุณมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมนี้กันเป็นประจำ ซึ่งจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย!

 

อยากมีห้องดูหนังขนาดเล็กในบ้านต้องทำอย่างไร

การจะเปลี่ยนห้องให้กลายเป็นโรงหนังในบ้านนั้นมีหลากหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การกำหนดงบประมาณ การเลือกสไตล์ การเลือกซื้อของ หรือการตกแต่ง โดยขั้นตอนการเปลี่ยนห้องธรรมดาเป็นห้องดูหนังขนาดเล็กภายในบ้านนั้นมีทั้งหมด 9 ขั้นตอน ดังนี้

 

กำหนดงบประมาณการทำห้องดูหนังในบ้าน

ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดงบประมาณ

ขั้นตอนแรกในการเปลี่ยนห้องธรรมดาเป็นห้องดูหนังขนาดเล็กภายในบ้าน คือ การกำหนดงบประมาณ เพราะว่าการจะทำโรงหนังในบ้านนั้นจะต้องทำการซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น โทรทัศน์ โปรเจกเตอร์ หรือเครื่องเสียง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งต่างๆ ที่จะทำให้เหมือนโรงหนังมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การกำหนดงบประมาณจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี แถมยังไม่ต้องเสี่ยงต่อการใช้จ่ายเกินตัวจนอาจทำให้ตัวเองเดือดร้อนอีกด้วย

 

เลือกห้องที่ใช่ไว้ดูหนัง

ขั้นตอนที่ 2 : เลือกห้องที่ใช่

ขั้นตอนต่อไปในการเปลี่ยนห้องธรรมดาเป็นห้องดูหนังขนาดเล็กภายในบ้าน คือ การเลือกห้องที่เหมาะสม โดยห้องที่จะนำมาทำเป็นโรงหนังในบ้านนั้นควรมีขนาดอย่างน้อยประมาณ 15 x 20 x 8 (กว้างxยาวxสูง) และอยู่ห่างจากห้องอื่นๆ เพราะว่าอาจจะมีเสียงรบกวน และควรเลือกห้องภายในบ้านที่มีขนาดเหมาะสมมากที่สุด เพื่อที่จะเก็บเสียงไว้ในห้อง และกันเสียงจากข้างนอกเข้ามา ซึ่งควรหลีกเลี่ยงห้องที่มีหน้าต่าง หรือกระจกเยอะเกินไป เพราะว่าหน้าต่าง หรือกระจกนั้นเป็นจุดที่เสียงสามารถผ่านได้ง่ายกว่ากำแพง และอาจทำให้เสียงดังออกไปรบกวนภายนอกได้

 

ปรับสีห้องให้ถูกทำห้องดูหนัง

ขั้นตอนที่ 3 : ปรับสีห้องให้ถูก

หลังจากเลือกห้องที่ใช่ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การปรับสีห้อง เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นโรงหนังในบ้าน โดยการปรับสีห้องนั้นควรปรับเป็นโทนสีเข้ม เช่น สีดำ สีเทา หรือสีน้ำตาล เป็นต้น เพื่อลดการสะท้อนแสงในขณะที่กำลังดูหนัง ถ้าหากเลือกใช้สีผนังเป็นโทนสีสว่างอาจทำให้แสงสะท้อนนั้นรบกวนภาพหน้าจอในขณะดูหนัง และอาจทำให้ภาพที่เห็นนั้นสว่างเกินไป หรือมีสีที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมนั่นเอง เแต่ถ้าใช้เป็นสีโทนเข้มก็จะช่วยดูดกลืนแสงได้ดีกว่า และช่วยให้ภาพดูชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ติดตั้งระบบไฟฟ้าและสายดิน

ขั้นตอนที่ 4 : ติดตั้งระบบไฟฟ้าและสายดิน

การทำโรงหนังในบ้านนั้นจะต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าค่อนข้างเยอะ ดังนั้น จึงควรแยกระบบไฟ และติดตั้งสายดินของอุปกรณ์เหล่านี้ออกจากตัวบ้าน เพราะว่าการเปิดใช้งานแต่ละครั้งนั้นจะต้องใช้ปริมาณไฟเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้เกิดปัญหาระบบไฟภายในบ้านได้ เช่น ไฟฟ้ารั่ว หรือไฟฟ้าช็อต เป็นต้น ถ้าหากไม่ติดตั้งสายดิน เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว  หรือแยกระบบไฟออกจากตัวบ้าน อาจทำให้เกิดปัญหาไฟไหม้ หรือปัญหาอื่นๆ ตามมา และทำให้เสียทรัพย์สินได้

 

ระบบเสียงกระหึ่มไว้ดูหนัง

ขั้นตอนที่ 5 : ทำระบบเสียงให้กระหึ่ม

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำโรงหนังในบ้าน คือ การทำระบบเสียงให้ดี โดยเริ่มจากการทำห้องให้เป็นห้องเก็บเสียงด้วยการใช้วัสดุกันเสียงในการบุผนัง หรือฝ้า พร้อมกับเลือกซื้อชุดเครื่องเสียง หรือโฮมเธียเตอร์ที่เป็นแบบเสียงรอบทิศ แต่ไม่เสียงไม่สะท้อน เพื่อช่วยเสริมอรรถรสในการดูหนังให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนเลือกซื้อเครื่องเสียง คือ พื้นที่ภายในห้อง ถ้าหากมีพื้นที่น้อย หรือห้องมีขนาดเล็ก ก็ให้เลือกใช้เป็น Sound Bar แทน เพราะถ้าใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่อาจทำให้เสียงที่ได้ยินนั้นดังเกินไป แต่ถ้าห้องมีพื้นที่กว้าง หรือเป็นห้องขนาดใหญ่ก็สามารถใช้เครื่องเสียงได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ในขณะดูหนังนั้นได้ยินเสียงอย่างชัดเจน

 

เลือกจอที่ตอบโจทย์

ขั้นตอนที่ 6 : เลือกจอที่ตอบโจทย์

สำหรับจอที่จะนำมาใช้ในโรงหนังในบ้านนั้นควรเลือกให้เหมาะสมกับขนาดห้อง และเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด โดยจอที่นิยมนำมาทำเป็นจอสำหรับโรงหนังภายในบ้านนั้นมีทั้งหมด ดังนี้

  • โปรเจคเตอร์ เป็นอุปกรณ์สำหรับฉายภาพที่มีให้เลือกหลากหลายรุ่น และหลายราคา ถ้าหากภายในห้องดูหนังขนาดเล็กในบ้านนั้นมีกำแพงขนาดไม่เล็กเกินไป ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อจอ และสามารถใช้โปรเจคเตอร์ฉายไปบนกำแพงได้เลย แถมยังมีขนาดเล็ก พกพา และจัดเก็บได้สะดวก
  • ทีวีจอใหญ่ เป็นอีกทางเลือกที่ใช้สำหรับทำโรงหนังในบ้าน โดยทีวีจอใหญ่นั้นจะมีราคาถูกว่าแบบสมาร์ททีวี แต่ว่าก็จะมีฟังก์ชันการใช้งานน้อยกว่าเช่นกัน ถ้าหากจะซื้อจอเพื่อดูหนังเพียงอย่างเดียว และไม่ต้องการฟังก์ชันอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ถูก และดีเลยทีเดียว
  • สมาร์ททีวี เป็นจอที่ได้รับความนิยมในการทำโรงหนังในบ้านเป็นอย่างมาก เพราะว่ามีฟังก์ชันที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นความคมชัดที่เหมือนกับทีวีจอใหญ่ สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ และยังสามารถดูหนังผ่านแอปพลิเคชันสำหรับดูหนังได้หลากหลายแอปฯ อีกด้วย

โดยการจัดวางจอสำหรับดูหนังนั้นควรจะจัดให้มีความสูงอยู่ในระดับสายตา เพื่อให้สายตามองตรงไปยังจุดกึ่งกลางของจอภาพพอดี และจะได้ไม่ต้องก้มหน้า หรือเงยหน้าในขณะที่ดูหนัง ทำให้ไม่เกิดอาการเมื่อยบริเวณคอ หรือบ่าตามมาอีกด้วย

 

จัดแสงไฟไม่ให้กันซีน

ขั้นตอนที่ 7 : จัดแสงไฟไม่ให้กันซีน

การจัดแสงไฟภายโรงหนังในบ้านก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน โดยทำการจัดไฟไม่ให้อยู่ในจุดที่สามารถสร้างแสงสะท้อนบนจอภาพได้ เพราะว่าแสงสะท้อนจากไฟนั้นจะไปรบกวนความคมชัด และการมองเห็นในขณะที่กำลังดูหนัง แต่ว่าก็ควรมีแสงไฟอยู่ภายในห้องดูหนัง ซึ่งอาจจะจัดไฟไว้ในมุมทางเดิน หรือมุมห้องก็ได้ เพื่อไม่ให้ห้องมืดสนิทจนเกินไป และป้องกันไม่ให้สายตาของเราทำงานหนักเกินไป และอาจปวดตาจากการได้รับแสงจากจอภาพที่สว่างเกินไปนั่นเอง

 

ที่นั่งดูหนังในบ้าน

ขั้นตอนที่ 8 : เลือกที่นั่งสุดพิเศษ

หลังจากทำการวางระบบไฟ วางจอ และเครื่องเสียงเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปของการทำห้องดูหนังขนาดเล็กในบ้าน คือ การเลือกวางที่นั่งสำหรับดูหนัง โดยควรทำการจัดวางที่นั่งให้อยู่ห่างจากจอประมาณ 2-5 เท่าของขนาดจอ ซึ่งวัดขนาดหน้าจอจากความยาวเส้นทะแยงมุมของหน้าจอ เพื่อจะได้ดูหนังอย่างได้อรรถรส และสามารถเก็บได้ทุกรายละเอียด แถมยังไม่ต้องปวดตา หรือเสียสายตาจากการมองจออีกด้วย พร้อมกับเลือกเก้าอี้ที่สามารถรองรับสรีระ นั่งสบาย หรือนั่งเป็นเวลานานก็ไม่เมื่อยล้า หรือรู้สึกปวดคอ บ่า หรือไหล่ เพื่อจะได้ดูหนังได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น

 

เติมมู้ดให้ถูกใจ

ขั้นตอนที่ 9 : เติมมู้ดให้ถูกใจ

เมื่อทำการสร้างโรงหนังในบ้านทุกอย่างจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในการสร้างห้องดูขนาดเล็กในบ้าน คือ การตกแต่งโรงหนังให้มี Mood&Tone ที่ถูกใจผู้ใช้งานมากที่สุด เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการดูหนังมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนนี้สามารถทำทุกอย่างได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งห้องด้วยของตกแต่ง เช่น การติดวอลเปเปอร์ หรือกรอบรูปโปสเตอร์หนัง หรือจะเป็นที่วางข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ผ้าห่ม ที่วางขา หรือมุมสำหรับวางขนม เพื่อไว้ทานในขณะดูหนัง เป็นต้น

 

เคล็ดลับดูแลโรงหนังในบ้านให้ใช้ได้นานไม่มีสะดุด

เคล็ดลับดูแลโรงหนังในบ้านให้ใช้ได้นานไม่มีสะดุด

หลังจากสร้างห้องดูหนังขนาดเล็กในบ้านเรียบร้อย อีกสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญเช่นกัน คือ การดูแลรักษา เพื่อให้โรงหนังในบ้านนั้นเหมือนใหม่อยู่ตลอดเวลา มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น และมีความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการทำโรงหนังในบ้านขึ้นมา โดยเคล็ดลับการดูแลรักษานั้นมีทั้งหมด ดังนี้

● เก็บกล่องอุปกรณ์ไว้

หลังจากซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแกะออกมาใช้งานแล้ว ควรเก็บกล่องอุปกรณ์พร้อมกับคู่มือการใช้งานเอาไว้ก่อน เพราะว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์บางอันนั้นอาจจะมีปัญหามากจากการผลิต หรือได้รับความเสียหายจากการใช้งานเพียงไม่กี่ครั้ง ซึ่งอาจจะต้องส่งของคืน หรือว่าต้องเช็กประกันจากตัวกล่องก่อนรับการซ่อมแซม ดังนั้น การเก็บกล่องอุปกรณ์ไว้ก็จะทำให้การดำเนินการคืนของ หรือดำเนินการซ่อมแซมได้เร็วขึ้น นอกจากนั้นเวลาที่ต้องการขนย้ายอุปกรณ์ หรือเก็บอุปกรณ์เวลาที่ไม่ใช้งาน ก็ยังมีกล่องไว้สำหรับเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นนั้นๆ อีกด้วย

● เช็กสายไฟให้แน่น

การทำโรงหนังในบ้านนั้นเต็มไปด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า ถ้าหากไม่วางระบบไฟฟ้าให้ดี อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้น จึงควรเช็กระบบไฟให้ดี และเช็กสายไฟเป็นประจำ ว่ามีตรงไหนรั่วหรือไม่ รวมถึงเช็กเต้าเสียบที่ใช้งานมาเป็นเวลานาน เพราะว่าอาจจะหลวม และส่งผลให้อุปกรณ์เสียหาย แถมยังทำให้เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตได้อีกด้วย

● ปัดฝุ่นอุปกรณ์

การทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงหนังในบ้านเป็นประจำ สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เกิดความเสียหายได้ เช่น ไฟฟ้าช็อต หรือระบบไฟรวน เป็นต้น โดยทำความสะอาดด้วยการคอยปัดฝุ่น เช็ดฝุ่นด้วยผ้าแห้ง และดูดฝุ่นอยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดด้วยน้ำ หรือผ้าเปียก เพราะอาจทำให้อุปกรณ์ได้รับความเสียหายจากความชื้น หรือน้ำได้ เช่น การเช็ดหน้าจอทีวีด้วยป้าเปียก อาจทำให้เกิดคราบน้ำทิ้งไว้ ทำให้เวลาดูหนังก็จะเห็นเป็นคราบ และทำให้เสียอรรถรสในการดูหนังได้

 

การสร้างห้องดูหนังขนาดเล็กภายในบ้าน หรือการสร้างโรงหนังในบ้านนั้นอาจจะเป็นความฝันของใครหลายๆ คน เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้บ่อยๆ แบบไม่มีเบื่อ โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ตาม 9 ขั้นตอนที่ได้นำมาฝากในบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดงบประมาณ การเลือกซื้อของ หรือการจัดวางสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในการดูหนังเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข ถ้าหากอยากให้การใช้ชีวิตของคุณ และครอบครัวง่ายยิ่งขึ้น แอปพลิเคชัน SMART WORLD ของทาง AP Thai ที่จะช่วยให้เรื่องบ้านของทุกคนเป็นเรื่องง่าย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ให้ลูกบ้านทุกคนได้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

RELATED ARTICLES