MAIN POINT
- วิธีชงชาเขียวมัทฉะแบบญี่ปุ่น ทำเองที่บ้านได้ง่าย ๆ เริ่มจากใส่ใจเลือกอุปกรณ์ ร่อนผงชาเขียวให้ละเอียด ตักในปริมาณที่เหมาะสม เติมน้ำร้อน แล้วตีผงมัทฉะด้วยจังหวะซิกแซกจนละลาย ได้เนื้อมัทฉะเนียนนุ่ม ฟองฟูละมุน เพียงเท่านี้ก็สัมผัสความฟินเหมือนได้บินไปจิบมัทฉะถึงญี่ปุ่น
- อยากลิ้มลองความฟินของชาเขียวมัทฉะแบบไม่เข้มจนเกินไป สามารถประยุกต์เข้ากับสูตรเมนูมัทฉะแสนอร่อยแบบคาเฟ่ได้ เช่น เคลียร์มัทฉะ, มัทฉะลาเต้, มัทฉะฮันนี่ และมัทฉะน้ำมะพร้าว ได้สัมผัสรสอูมามิ นุ่มละมุน มือใหม่หัดจิบก็อินได้ ส่วนมัทฉะเลิฟเวอร์ก็ปรับเมนูสนุก ไม่มีเบื่อ
วิธีชงชาเขียวมัทฉะ ทำเองที่บ้านง่าย ๆ
มัทฉะถ้วยโปรด เครื่องดื่มช่วยรีเฟรชใจในวันที่ต้องการความสงบและสดชื่น เพียงจิบเบา ๆ ก็ฟิน แม้เป็นมือใหม่พึ่งเข้าวงการมัทฉะก็สัมผัสความละมุนนี้ได้ไม่ยาก ในบทความนี้ AP Thai รวมวิธีชงชาเขียวมัทฉะ รสนุ่ม เข้มข้น แบบต้นตำรับญี่ปุ่น ที่สามารถทำเองได้ที่บ้านง่าย ๆ พร้อมแจกสูตรเมนูอร่อยแบบคาเฟ และเคล็ดลับชงชาเขียวให้ละลายแบบมือโปร มาฝากกัน
อุปกรณ์ในการชงชาเขียวมัทฉะ
ก่อนจะไปชงมัทฉะให้อร่อยแบบมือโปร มาดูกันก่อนว่าอุปกรณ์ที่ใช้ชงชาเขียวมัทฉะแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ มีอะไรบ้าง พร้อมเคล็ดลับการเลือกง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ ที่ช่วยให้ชงสนุกขึ้น และได้มัทฉะถ้วยโปรดรสละมุนขึ้นทุกแก้วแน่นอน
1. แปรงตีมัทฉะ – Chasen (茶筅)
แปรงตีมัทฉะ หรือที่เรียกว่า ชาเซ็น คือ แปรงตีชาที่ทำด้วยมือจากไม้ไผ่แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ใช้สำหรับตีผงมัทฉะกับน้ำร้อนให้เข้ากันอย่างละเอียด เพื่อให้ได้เครื่องดื่มชาเขียวเนื้อเนียน ฟองละเอียด และรสชาติกลมกล่อม โดยทั่วไปแปรงชาเซ็นจะมีจำนวนซี่ตั้งแต่ 70-80 ซี่ ไปจนถึง 120 ซี่ ซึ่งยิ่งจำนวนซี่มาก ฟองมัทฉะจะยิ่งเนียน ละเอียดมากขึ้น
ในปัจจุบัน นอกจากชาเซ็นแบบไม้ไผ่ ยังมีแปรงแบบเรซินหรือพลาสติก ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่สะดวกสบาย ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องเชื้อรา และยังมีอายุใช้งานนานกว่าแปรงแบบไม้ไผ่ แต่มีน้ำหนักที่หนักกว่าและอาจตีผงมัทฉะได้ไม่ละเอียดเท่า
เทคนิคเลือกแปรงตีมัทฉะสำหรับมือใหม่:
- แปรงไม้ไผ่ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสแบบดั้งเดิม ตัวแปรงมีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นดี จับสบาย และ ตีผงมัทฉะได้เนียนละเอียดที่สุด รุ่นยอดนิยมคือ แบบ 80 ซี่ ซึ่งเหมาะสำหรับการชงมัทฉะทั่วไป ใช้คู่กับภาชนะได้หลากหลาย และตีฟองได้ง่ายแม้เพิ่งเริ่มต้นหัดชงชา
- แปรงเรซินหรือพลาสติก เหมาะกับผู้ที่ต้องการความสะดวกในการดูแลรักษา และเหมาะอย่างยิ่งกับการตีมัทฉะแบบ Cold Whisk เช่น ชงมัทฉะกับนมหรือเครื่องดื่มเย็น แม้จะไม่มีตัวเลือกจำนวนซี่แบบแปรงไม้ไผ่ แต่ก็มีหลายเกรดให้เลือกตามงบประมาณ
2. ถ้วยชงมัทฉะ - Chawan (茶碗)
ถ้วยชงมัทฉะ หรือที่เรียกว่า ชาวัง คือ ถ้วยขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10–12 ซม. ทำจากเซรามิกเนื้อหนา ช่วยเก็บความร้อนได้ดี ทำให้มัทฉะละลายง่ายขึ้น ภายในถ้วยโค้งรับการตีชา เคลือบผิวเรียบมัน เพื่อให้แปรงตีมัทฉะได้ลื่น ซึ่งถ้วยชาวังมีหลายแบบให้เลือกตามฤดูกาลและรูปแบบการชง โดยใช้ถ้วยกว้างสำหรับอุสุฉะ (ชาเนื้อบาง) และถ้วยแคบสำหรับโคอิฉะ (ชาเข้มข้น) เพื่อให้ชงได้ถนัดมือ ไม่ติดขอบ และไม่กระเด็นออกนอกถ้วย
เทคนิคเลือกถ้วยชงมัทฉะสำหรับมือใหม่:
- เลือกสีขาวหรือสีกลาง ๆ เพื่อให้เห็นเนื้อมัทฉะชัดเจนว่าละลายดีหรือยัง
- ถ้าชอบชงมัทฉะเย็นหรือเทใส่แก้วอื่น แนะนำเลือกถ้วยมีปากแหลม จะเทชาได้ง่าย ไม่หกเลอะเทอะ
3. ช้อนตักมัทฉะ - Chashaku (茶杓)
ช้อนตักมัทฉะ หรือที่เรียกว่า ชาชะคุ คือ ช้อนไม้ไผ่ สำหรับตักผงมัทฉะโดยเฉพาะ มีลักษณะเรียวยาวประมาณ 19 เซนติเมตร ปลายดัดเล็กน้อยกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อให้การตักมัทฉะได้ปริมาณที่เหมาะสม 1 - 1.5 กรัม แถมคุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่ ที่จะไม่รบกวนกลิ่นและรสของมัทฉะ ช่วยให้รสชาติคงที่ และยังให้บรรยากาศแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ ในทุกการชง
4. ตะแกรงร่อนผงมัทฉะ - Chakoshi (茶こし)
ตะแกรงร่อนผงมัทฉะ หรือที่เรียกว่า ชาโคชิ คือ ตะแกรงที่มีความถี่เหมาะสม สำหรับใช้กรองผงมัทฉะก่อนชง เพื่อให้ผงกระจายตัวดี ไม่จับเป็นก้อน ทำให้มัทฉะ ละลายน้ำง่าย ตีฟองขึ้นเร็ว เพราะแม้จะเกรดพรีเมียมหรือดูเนียนละเอียดแค่ไหน ถ้าโดนอากาศหรือความชื้นเล็กน้อยก็มีโอกาสจับตัวเป็นก้อนได้ ถือเป็นตัวช่วยเล็ก ๆ ที่สำคัญมาก เพราะแค่ร่อนก่อนตี ก็เหมือนมีมือโปรมาช่วยชงมัทฉะเลย
5. แท่นวางแปรงชงชา - Chasentate (茶筅立て)
แท่นวางแปรงชงชา หรือที่เรียกว่า ชาเซ็นทาเทะ คือ อุปกรณ์เซรามิกเคลือบเงาทรงคล้ายเห็ด ใช้สำหรับวางและจัดรูปทรงของแปรงตีมัทฉะหลังจากใช้งาน โดยแปรงตีมัทฉะสามารถเสียบลงได้พอดี เพื่อคว่ำแปรงให้แห้ง พร้อมช่วยคงรูปขนแปรงไม่ให้บานหรือเสียทรง และยืดอายุการใช้งานของแปรงให้นานขึ้น
วิธีชงชาเขียวมัทฉะแบบญี่ปุ่น ทำเองได้ที่บ้านง่าย ๆ
1. เลือกชาเขียวให้เหมาะกับการชงมัทฉะ
เกรดที่เหมาะกับการชงมัทฉะแบบญี่ปุ่นคือ เกรดพิธีการ (Ceremonial Grade) ผลิตจากยอดใบชาเขียวที่อ่อนสุด เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แล้วนำไปบดละเอียดด้วยหินบด พร้อมคัดก้านและเส้นใยออก เพื่อให้ได้เนื้อผงที่เนียนละเอียดมาก ละลายน้ำดี สีเขียวสด และรสชาติละมุน ไม่ขม กลมกล่อมในตัว เหมาะกับการชงมัทฉะร้อน ๆ ให้ประสบการณ์การดื่มแบบพิธีชาญี่ปุ่นแท้ ๆ
2. ตักมัทฉะตามรูปแบบการชงมัทฉะ
การชงมัทฉะแบบญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักคือ โคอิฉะ (Koicha) และ อุสุฉะ (Usucha) ซึ่งทั้งสองแบบใช้ปริมาณผงมัทฉะและให้รสสัมผัสที่ต่างกันชัดเจน
- โคอิฉะ (Koicha): มัทฉะเนื้อเข้มข้น แบบครีมมี กลิ่นหอมชัด เพราะใช้ผงมัทฉะ 4 กรัม ปริมาณน้ำ 30 มิลลิลิตร และตีด้วยจังหวะช้า ๆ เพื่อให้ได้มัทฉะเนียนนุ่ม ไม่เกิดฟอง มักใช้ในพิธีชงชาแบบทางการของญี่ปุ่น เหมาะกับคนที่ชอบรสเข้มลึก และต้องการสัมผัสมัทฉะแบบดั้งเดิมแท้ ๆ
- อุสุฉะ (Usucha): มัทฉะเนื้อบางเบา มีฟองนุ่มละเอียด ใช้ผงมัทฉะ 2 กรัม ต่อน้ำ 60 มิลลิลิตร และตีเร็วแบบซิกแซก (รูปตัว M หรือ W) เพื่อให้เกิดฟองนุ่ม รสชาติละมุน ดื่มง่าย เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากในคาเฟ และเหมาะสำหรับการชงดื่มเองที่บ้าน
3. ร่อนผงมัทฉะผ่านตะแกรงตาละเอียด
ขั้นตอนเล็ก ๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่ช่วยให้มัทฉะเนียนนุ่มขึ้นได้ คือ การร่อนผงมัทฉะ เพราะการร่อนจะช่วยให้ผงชากระจายตัวดี ไม่เป็นก้อน ทำให้ชงละลายง่าย ตีฟองขึ้นเร็ว และได้เนื้อชาที่เนียนละมุน แค่วางตะแกรงตาละเอียดบนถ้วยชาวัง แล้วตักผงมัทฉะใส่ลงไป ใช้ช้อนเกลี่ยเบา ๆ ให้ผงร่อนผ่านลงถ้วย ก็พร้อมชงต่อได้เลย
4. เติมน้ำร้อนอุณหภูมิเหมาะสม
เติมน้ำร้อนอุณหภูมิ ประมาณ 75-80 องศาเซลเซียส เพื่อให้มัทฉะละลายได้ดี รสชาติกลมกล่อม หลีกเลี่ยงการใช้น้ำเดือดจัด เพราะจะทำให้ผงมัทฉะไหม้ เกิดรสขม กลิ่นหอมจางลง ปกติการชงมัทฉะแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมมักจะไม่เติมส่วนผสมอื่น แต่หากต้องการปรุงเพิ่ม เช่น ผสมนมหรือน้ำผึ้ง ควรละลายผงมัทฉะในน้ำร้อนให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นก้อน
5. ตีมัทฉะให้ละลายเข้ากัน
ตีเนื้อมัทฉะแบบซิกแซก ด้วยการจับแปรงตีมัทฉะเพียง 2-3 นิ้ว ตีเป็นจังหวะรูปตัว M หรือ W ด้วยความเร็วสูง โดยไม่สัมผัสกับก้นถ้วยชา เพราะช่วยให้อากาศเข้าไปได้มากขึ้นและกระจายตัวได้ดี ทำให้เกิดฟองนุ่มเนียนบนผิวชา และป้องกันผงจับตัวตรงกลางถ้วย เพียงเท่านี้ก็จะได้มัทฉะร้อนถ้วยโปรดแบบญี่ปุ่น ที่ทั้งหอม นุ่ม และละมุนเหมือนมือโปรชงเองแล้ว
วิธีการใช้งานชาเซ็นไม้ไผ่
- ก่อนใช้งานครั้งแรก ควรแช่ชาเซ็นไม้ไผ่ในน้ำร้อนประมาณ 15-30 นาที เพื่อช่วยให้ซี่ไม้ไผ่คลายตัว ไม่เปราะหักง่าย
- ก่อนใช้งานในทุกครั้ง ควรแช่ชาเซ็นไม้ไผ่ในน้ำอุ่นประมาณ 5-10 นาที เพื่อยืดให้เนื้อไม้ยืดหยุ่น ป้องกันการหักงอระหว่างตีมัทฉะ และช่วยยืดอายุการใช้งาน
- หลังการใช้งานทุกครั้ง ควรล้างเฉพาะส่วนที่สัมผัสกับมัทฉะ โดยการนำไปแกว่งล้างในน้ำสะอาดเบา แล้วคว่ำลงบนแท่นวางแปรงเพื่อช่วยคงรูปของแปรง
แจกสูตรเมนูมัทฉะอร่อย ๆ แบบคาเฟ
1. เคลียร์มัทฉะ (Clear Matcha)
สำหรับใครที่กำลังเริ่มเข้าวงการมัทฉะหรืออยากดื่มมัทฉะใส ๆ เบา ๆ แนะนำเมนู “เคลียร์มัทฉะ - Clear Matcha” ชงเย็น สดชื่น ดื่มง่าย ไม่เน้นฟอง คล้าย Infused Water ทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ด้วยสูตรนี้
ส่วนประกอบ
- ผงมัทฉะ 2-3 กรัม
- น้ำแร่แช่เย็น 100 มิลลิลิตร
- น้ำร้อน (ประมาณ 75-80°C) 50 มิลลิลิตร
- น้ำแข็งก้อน
วิธีชงเคลียร์มัทฉะ
- ร่อนผงมัทฉะผ่านตะแกรงละเอียดลงถ้วยชง ถ้าชอบดื่มมัทฉะรสเบา ๆ ตักเพียง 2 กรัม แต่ถ้าชอบรสเข้ม ๆ ตัก 3 กรัมได้เลย
- เติมน้ำร้อน และตีมัทฉะให้ละลายเข้ากันจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
- ใส่น้ำแข็งและน้ำแร่แช่เย็นลงในแก้ว
- เทมัทฉะร้อนลงในแก้ว พร้อมเสิร์ฟความอร่อย
2. มัทฉะลาเต้ (Matcha Latte)
เปลี่ยนบรรยากาศเรียบง่ายในวันธรรมดาได้ฟีลผ่อนคลายเหมือนนั่งในคาเฟญี่ปุ่นสาย Cozy ด้วยเมนู “มัทฉะลาเต้ - Matcha Latte” สัมผัสความหอมนัวจากนม ผสานเข้ากับความเข้มข้นของมัทฉะแท้ ๆ ได้อย่างลงตัว สามารถชงมัทฉะได้ 2 วิธี คือ แบบ Classic Matcha Latte และแบบ Cold Whisk Matcha Latte
ส่วนประกอบ
- ผงมัทฉะ 3-6 กรัม
- นมรสธรรมชาติ 150 มิลลิลิตร แนะนำนมพืช เพื่อรับคุณประโยชน์จากสารอาหารเต็มที่
- น้ำร้อน (ประมาณ 75-80°C) 50 มิลลิลิตร
- น้ำแข็งก้อน
วิธีชงมัทฉะลาเต้ แบบ Classic Matcha Latte
(เน้นมัทฉะเข้มข้น หอมมัน เหมาะกับคนที่ชอบรสมัทฉะแท้ ๆ)
- ร่อนผงมัทฉะผ่านตะแกรงละเอียดลงถ้วยชง ปรับปริมาณตามความเข้มที่ชอบ
- เติมน้ำร้อน และตีมัทฉะให้ละลายเข้ากัน เพื่อสกัดกลิ่นหอมและความเข้มของมัทฉะออกมา
- ใส่น้ำแข็งและนมแช่เย็น 100 มิลลิลิตรลงในแก้ว
- เทมัทฉะร้อนที่ชงไว้ลงในแก้ว พร้อมเสิร์ฟความอร่อย
วิธีชงมัทฉะลาเต้ แบบ Cold Whisk Matcha Latte
(เน้นรสละมุน สดชื่น เหมาะกับคนที่ใช้ผงมัทฉะเข้ม หรือชอบแนวมัทฉะเบา ๆ)
- ร่อนผงมัทฉะผ่านตะแกรงละเอียดลงถ้วยชง เลือกปริมาณตามความเข้มที่ชอบ
- ค่อย ๆ เติมนมเย็นลงไปทีละนิด พร้อมตีให้เข้ากันจนเนียนละลาย
- ใส่น้ำแข็งลงแก้ว แล้วเทมัทฉะที่ผสมนมไว้ลงไป จะได้มัทฉะลาเต้แบบเย็นรสนุ่ม ดื่มง่าย
3. มัทฉะฮันนี่ (Matcha Honey)
เติมความสดชื่นในวันที่เหนื่อยล้า พร้อมรีเฟรชใจเบา ๆ ต้องไม่พลาดสูตรชงมัทฉะ “มัทฉะฮันนี่ - Matcha Honey” หอมกลิ่นมัทฉะแท้ ๆ ผสานกับความหวานนวลของน้ำผึ้ง กลมกล่อมละมุนลิ้น เหมือนกลิ่นอายธรรมชาติค่อย ๆ ละลายในปาก
ส่วนประกอบ
- ผงมัทฉะ 2-3 กรัม
- น้ำผึ้งแท้ 30 มิลลิลิตร
- น้ำร้อน (ประมาณ 75–80°C) 120 มิลลิลิตร
- น้ำแข็งก้อน
วิธีชงมัทฉะฮันนี่
- ร่อนผงมัทฉะผ่านตะแกรงละเอียดลงถ้วยชง เลือกปริมาณตามความเข้มที่ชอบ
- เติมน้ำร้อน 50 มิลลิลิตร แล้วตีมัทฉะให้ละลายเข้ากัน
- เทน้ำผึ้งลงแก้วผสมน้ำร้อน 70 มิลลิลิตร แล้วคนเบา ๆ ให้เข้ากัน เพื่อให้ได้เบสหวานหอมละมุน
- ใส่น้ำแข็ง แล้วเทมัทฉะลงในแก้ว พร้อมเสิร์ฟความอร่อย
4. มัทฉะน้ำมะพร้าว (Matcha Coconut)
ปลุกพลังเบา ๆ ในวันร้อน ๆ หรือหลังออกกำลังกาย ด้วยเมนู “มัทฉะน้ำมะพร้าว - Matcha Coconut” รับความสดชื่น หอมชาเขียวอ่อน ๆ ผสานกับความหวานธรรมชาติของน้ำมะพร้าว ดื่มง่าย สาย Healthy ต้องลอง
ส่วนประกอบ
- ผงมัทฉะ 3-4 กรัม
- นมจืด 30 มิลลิลิตร
- น้ำมะพร้าว 100 มิลลิลิตร
- น้ำแข็งก้อน
วิธีชงมัทฉะน้ำมะพร้าว
- ร่อนผงมัทฉะลงถ้วย เลือกปริมาณตามความเข้มที่ชอบ
- เติมนมจืด แล้วตีมัทฉะให้ละลายเนียนเข้ากัน
- เตรียมแก้วใส่น้ำแข็ง แล้วเทน้ำมะพร้าวเย็นลงไป
- เทมัทฉะที่ชงไว้ลงด้านบน พร้อมเสิร์ฟความอร่อย
เคล็ดลับเติมความฟินสูตรมัทฉะน้ำมะพร้าว: แช่นมช่องฟรีซให้เย็นจัดก่อนใช้ หรือผสมนมจืดกับวิปครีมอัตราส่วน 1:1 แล้วตีด้วยเครื่องตีฟองนมจะได้เนื้อมัทฉะนุ่มฟู ฟินสุด ๆ
เคล็ดลับในการชงชาเขียวมัทฉะให้ละลาย
วิธีชงชาเขียวมัทฉะให้ละลาย เนียนนุ่ม ฟองละเอียด และไม่มีผงจับตัวเป็นก้อน เพื่อให้รสชาติชาเขียวมัทฉะอร่อย ฟินเหมือนนั่งจิบในร้านชาเจ้าดังที่ญี่ปุ่นเลย มาดูเคล็ดลับที่มือโปรใช้กัน บอกเลยว่า แค่เข้าใจเทคนิคเล็กน้อยก็ช่วยให้มัทฉะเนียน นุ่ม ฟองละเอียดได้ง่าย ๆ
- จัดเก็บผงมัทฉะให้ถูกวิธี: เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท แล้วแช่ในตู้เย็นอุณหภูมิ -18 ถึง 0 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศ แสงแดด และความร้อนโดยตรง เพื่อป้องกันผงมัทฉะจับตัวเป็นก้อนและคงความสดใหม่ได้นานขึ้น
- รอให้มัทฉะหายเย็นก่อนนำมาชง: ควรนำมัทฉะออกจากตู้เย็นแล้ววางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 10–15 นาที ก่อนเปิดภาชนะ เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นจากอากาศภายนอกกลั่นตัวและจับตัวเป็นหยดน้ำบนผงชา ซึ่งอาจทำให้ผงมัทฉะจับตัวเป็นก้อนหรือเสื่อมคุณภาพได้
- ใช้อุปกรณ์สำหรับเมนูมัทฉะโดยเฉพาะ: ควรใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเหมาะสำหรับการทำเมนูมัทฉะโดยเฉพาะ ทั้งตะแกรงที่มีตาข่ายละเอียด ช้อนตักผงมัทฉะในปริมาณที่เหมาะสม และใช้แปรงชาเซ็นซี่ละเอียด ตีผงมัทฉะเข้ากับน้ำร้อน เพื่อให้ละลายและเกิดฟองเนียนนุ่ม
- วอร์มถ้วยก่อนชงมัทฉะ: เทน้ำร้อนลงในถ้วยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาที ให้อุณหภูมิร้อนกระจายทั่วภาชนะจากนั้นเทน้ำออกแล้วเช็ดให้แห้งก่อนชง เทคนิคนี้จะช่วยให้อุณหภูมินิ่ง รักษาความร้อน และช่วยให้ผงมัทฉะละลายดีขึ้น หอม และตีฟองง่ายขึ้น
รวมสาระดี ๆ เรื่องในครัว ด้วยบทความน่ารู้จากเอพีไทย
- เปลี่ยนการทำอาหารที่บ้านให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยเมนูอาหาร ไร้กลิ่นติดบ้าน
- ไอเดียต่อเติมครัวหลังบ้านในสไตล์ต่าง ๆ เอาใจคนชอบทำอาหาร
- สีห้องครัวตามฮวงจุ้ย ทาสีอะไรให้สวย ถูกโฉลก เงินทองไหลมาเทมา
สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ด้วยชาเขียวมัทฉะถ้วยโปรดที่คุณชงเอง
วิธีชงชาเขียวมัทฉะที่บ้านให้อร่อยเป็นเรื่องง่าย ๆ เปลี่ยนวันธรรมดาให้เป็นช่วงเวลาแห่งความผ่อนคลาย และความสุขเล็ก ๆ เพราะบางครั้งความสงบในใจที่แท้จริงอาจอยู่ในวินาทีที่จิบชาอุ่น ๆ สัมผัสรสนุ่มและกลิ่นหอมละมุน เหมือนได้กลับมาอยู่กับตัวเองอีกครั้ง
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ