LIVING SERIES
  • Witty Living

ขั้นตอนปลูกผักสลัดด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ที่มือใหม่ก็ทำได้

บทความที่จะมาแนะนำขั้นตอนการปลูกผักสลัดแบบง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน สะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษ 

AP THAILAND

AP THAILAND

ปลูกผักสลัด

ขั้นตอนปลูกผักสลัดด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ที่มือใหม่ก็ทำได้

ผักสลัด ถือว่าเป็นอีกส่วนประกอบในการทำเมนูเพื่อสุขภาพ และเมนูอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม และไม่มีรสชาติขม จึงทำให้สามารถทานได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ แต่ว่าผักสลัด หรือผักสดในปัจจุบันนั้นอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้

 

เพราะฉะนั้น ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำขั้นตอนการปลูกผักสลัดด้วยตัวเองแบบง่ายๆ จะมีขั้นตอนอย่างไร และต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

 

ข้อควรรู้ก่อนทำการปลูกผักสลัด

ข้อควรรู้ก่อนทำการปลูกผักสลัด

ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มลงมือปลูกผักสลัดด้วยตัวเอง เรามาทราบถึงข้อควรรู้ต่างๆ กันก่อนจะดีกว่า เพื่อให้การวางแผนการปลูกนั้นมีประสิทธิภาพที่สุด และสามารถเตรียมอุปกรณ์ได้อย่างครบถ้วน โดยข้อควรรู้ก่อนทำการปลูกผักสลัด มีด้วยกันดังนี้

ผักสลัดที่นิยมปลูกมีกี่ชนิด?

สิ่งแรกที่ทุกคนควรรู้ คือ พันธุ์ผักสลัดที่นิยมปลูก เพื่อที่จะได้เลือกพันธุ์ผักสลัดที่ตัวเองต้องการปลูกไว้ทานได้อย่างถูกต้อง หรือทราบถึงพันธุ์ผักสลัดที่กำลังเป็นต้องการของตลาดสำหรับผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม โดยผักสลัดที่นิยมปลูกมีทั้งหมด ดังนี้

 

กรีนโอ๊ค

1. กรีนโอ๊ค

ผักสลัดยอดนิยมอย่างกรีนโอ๊ค เป็นผักสลัดที่มีใบสีเขียวอ่อน ใบหยิก ปลายใบเป็นแฉกโค้ง และซ้อนกันหลายชั้นคล้ายกับผักกาดหอม จึงทำให้มีเนื้อสัมผัสนุ่ม และไม่มีรสขม ทำให้เป็นผักสลัดยอดนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพเป็นอย่างมาก

 

เรดโอ๊ค

2. เรดโอ๊ค

ผักสลัดเรดโอ๊ค เป็นผักสลัดที่คล้ายกับกรีนโอ๊ค คือ ใบหยิก และมีปลายใบเป็นแฉกโค้ง แต่มีใบสีแดงอมน้ำตาล ซึ่งมีเนื้อสัมผัสนุ่ม และไม่มีรสขมเช่นกัน จึงทำให้เป็นอีกผักสลัดที่นิยมนำมาทานคู่กับกรีนโอ๊ค และนำมาตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงามอีกด้วย

 

คอส

3. คอส

ผักสลัดยอดนิยมอย่างคอส หรือที่เรียกว่าผักโรเมน เป็นผักสลัดที่มีใบยาว ก้านสีขาวเหมือนกับผักกาด และสีใบของคอสนั้นจะมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนไปจนถึงสีเขียวเข้ม ซึ่งมีเนื้อสัมผัสกรอบ และไม่มีรสชม เหมาะกับการทำสลัดซีซาร์เป็นอย่างมาก

 

เรดคอรัล

4. เรดคอรัล

เรดคอรัล เป็นผักสลัดที่มีลักษณะคล้ายกับกรีนโอ๊ค และเรดโอ๊ค เพราะว่ามีลักษณะใบหยิก และเป็นพุ่มซ้อนเหมือนกับผักกาดหอม ทำให้มีเนื้อสัมผัสนุ่มเช่นกัน ซึ่งส่วนก้านนั้นจะมีสีเขียวเหมือนกรีนโอ๊ค และมีปลายใบเป็นสีแดงอมน้ำตาลเหมือนเรดโอ๊ค เหมาะกับการนำมาทำเมนูเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

 

บัตเตอร์เฮด

5. บัตเตอร์เฮด

บัตเตอร์เฮด เป็นผักสลัดที่มีลักษณะเป็นหัว มีใบกว้าง และกลมเป็นวงรี พร้อมกับออกใบเรียงซ้อนสลับกัน และเกาะกันหลวมๆ จนเป็นหัว ซึ่งบัตเตอร์เฮดนั้นไม่มีรสขม ทานง่าย และเนื้อสัมผัสนุ่ม นิยมนำมาทำเมนูเพื่อสุขภาพเช่นกัน

 

เบบี้ร็อคเก็ต

6. เบบี้ร็อคเก็ต

เบบี้ร็อคเก็ต เป็นผักสลัดที่มีใบสีเขียวอ่อน และเรียวเล็กเป็นแฉก ซึ่งมีเนื้อสัมที่นุ่มเหมือนกับผักสลัดชนิดอื่นๆ แต่ว่ามีรสชาติขมเล็กน้อย จึงเหมาะกับการนำไปทำเมนูเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมที่รสชาติจัดจ้าน และเข้มข้น เพื่อดับรสชาติขมของเบบี้ร็อคเก็ต

 

ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก

7. ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก

ผักสลัดยอดนิยมชนิดสุดท้าย คือ ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก เป็นผักสลัดที่หลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อมากนัก แต่ต้องเคยทานกันอย่างแน่นอน เป็นผักสลัดที่มีลักษณะใบเป็นสีเขียว พุ่มหนา และใบหยิก ซึ่งให้เนื้อสัมผัสกรอบ และฉ่ำน้ำเป็นอย่างมาก เหมาะกับการนำมาทานเป็นสลัด หรือทานคู่กับอาหารรสชาติจัดจ้านก็ได้เช่นกัน

 

วิธีการปลูกผักสลัดมีกี่แบบ?

วิธีการปลูกผักสลัดนั้นมี 2 แบบ ได้แก่ การปลูกลงบนดิน และ การปลูกแบบไร้ดิน ซึ่งจะมีความแตกต่างด้วยกันดังนี้

 

  • การปลูกลงบนดิน เป็นการปลูกแบบที่ทุกๆ คนคุ้นเคยกันดี คือ นำต้นลงดินใส่กระถางรดน้ำตามปกติ
  • การปลูกแบบไร้ดิน หรือที่เรียกว่าการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ จะมีความแตกต่างจากการปลูกแบบปกติ คือ ใช้ขวดน้ำพลาสติก และฟองน้ำในการปลูก ให้รากนั้นสัมผัสกับน้ำโดยตรงโดยไม่ผ่านดิน

 

ซึ่งทั้ง 2 วิธีนั้นก็มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก โดยทุกคนสามารถเลือกวิธีการปลูกผักสลัดตามแบบที่ตัวเองถนัด หรืออาจเลือกโดยคำนึงถึงเหมาะสมกับบริเวณที่เตรียมเอาไว้เพื่อเพาะปลูก

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกผักสลัด

อุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกผักสลัด

สำหรับอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปลูกผักสลัดนั้นสามารถหาได้ง่ายๆ ตามร้านขายอุปกรณ์การเกษตร หรือตามท้องตลาดทั่วไป โดยอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ทั้งหมด มีดังนี้

1. เมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปลูกผักสลัด โดยเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ผักตามลักษณะ และพันธุ์ของผักที่ต้องการปลูก ซึ่งควรเลือกซื้อจากร้านขายอุปกรณ์การเกษตร และเลือกยี่ห้อที่สามารถเชื่อถือได้ เพราะถ้าหากได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ อาจทำให้เมล็ดพันธุ์นั้นไม่เติบโต หรือไม่งอกขึ้นมาได้

2. ภาชนะเพาะเมล็ด

ภาชนะเพาะเมล็ด เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อเพาะเมล็ดให้เกิดรากแก้ว และผลิใบเลี้ยงจนเป็นต้นกล้า ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ทั้งภาชนะเพาะเมล็ดที่มีจำหน่ายที่ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร, กล่องพลาสติกขนาดเล็ก, จานข้าว หรือภาชนะอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นหลุม เพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. กระถางสำหรับปลูก

กระถางสำหรับปลูก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกต้นกล้าที่ได้มาจากการเพาะต้นกล้าในภาชนะเพาะเมล็ด เพื่อให้ผักสลัดนั้นมีพื้นที่สำหรับเติบโตมากขึ้น และเติบโตอย่างสมบูรณ์มากที่สุด

4. กระบอกฉีดน้ำ

กระบอกฉีดน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงเพาะเมล็ด โดยใช้พ่นน้ำลงไปในขณะที่เพาะเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ดินที่ใช้เพาะพันธุ์นั้นเกิดความชุ่มชื้น เพราะถ้าหากใช้น้ำรดลงไปบนดินโดยตรงในช่วงเพาะเมล็ดพันธุ์นั้นอาจทำให้เมล็ดพันธุ์แยกตัวออกมาจากดิน และไม่เติบโตเป็นต้นกล้าได้

5. สารละลายธาตุอาหาร A และ B

สารละลายธาตุอาหาร A และ B เป็นสารละลายเข้มข้นที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นในการปลูกผักสลัด เพื่อให้ผักสลัดนั้นสามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ และสมบูรณ์ พร้อมกับมีสีสันน่าทาน และมีรสอร่อย

 

ขั้นตอนปลูกผักสลัดแบบง่ายๆ มือใหม่ก็ทำได้

ขั้นตอนปลูกผักสลัดแบบง่ายๆ มือใหม่ก็ทำได้

หลังจากทุกคนได้เตรียมอุปกรณ์สำหรับปลูกผักสลัดเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ขั้นตอนการปลูกผักสลัดแบบง่ายๆ ที่มือใหม่ก็สามารถทำได้ โดยขั้นตอนในการปลูกมีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. เพาะเมล็ดผักสลัด

ขั้นตอนแรกในการปลูกผักสลัด คือ การเพราะเมล็ดผักสลัด โดยทำการนำดินสำเร็จรูปใส่ลงไปในภาชนะเพาะเมล็ดประมาณ ¾ ของภาชนะ พร้อมกับเกลี่ยให้หน้าดินเสมอกัน หลังจากนั้นใช้นิ้วกดลงไปให้เป็นหลุม แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้เตรียมไว้ใส่ลงไปในหลุม เมื่อใส่เมล็ดพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ค่อยๆ เกลี่ยดินกลบหลุมเมล็ดพันธุ์ และใช้กระบอกฉีดน้ำให้ทั่วทั้งภาชนะ จนดินนั้นมีความชุ่มชื้นเพียงพอต่อการเติบโตของเมล็ดพันธุ์

 

เตรียมดินสำหรับปลูก

2. เตรียมดินสำหรับปลูก

หลังจากเพาะเมล็ดพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการเตรียมดินสำหรับปลูกผักสลัด โดยนำดินสำเร็จรูปมาใส่ไว้ในกระถางสำหรับปลูกประมาณ ¾ ของกระถาง เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับย้ายต้นกล้ามาปลูกที่กระถาง และให้ผักสลัดนั้นมีพื้นที่ในการเติบโตมากขึ้น

3. ย้ายต้นกล้ามาปลูกที่กระถาง

เมื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ และเตรียมดินสำหรับปลูกแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การย้ายต้นกล้ามาปลูกที่กระถาง โดยในขั้นตอนนี้ควรย้ายอย่างระมัดระวังไม่ให้รากของต้นกล้าขาด ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์สำหรับย้ายต้นกล้า หรือเสียมพรวนดินช่วยในการย้ายก็ได้เช่นกัน

 

วางไว้ที่แดดส่องถึง

4. วางไว้ที่แดดส่องถึง

หลังจากย้ายต้นกล้ามาปลูกที่กระถางเรียบร้อยแล้ว ให้นำกระถางที่ใช้ปลูกผักสลัดนั้นไปวางไว้ในที่ที่แดดส่องถึง เพราะว่าผักสลัดนั้นเป็นพืชที่ชอบให้แสงแดดส่องตลอดทั้งวัน และต้องคอยรดน้ำให้ผักสลัดเช้า-เย็น อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ดินนั้นมีความชุ่มชื้นเพียงพอต่อความต้องการของผักสลัด

5. ใส่สารละลายธาตุอาหาร A และ B

นอกจากจะเตรียมดิน พร้อมกับวางไว้ที่แดดส่องถึง และรดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังคงต้องใส่สารละลายธาตุอาหาร A และ B เพื่อให้ผักสลัดนั้นได้รับคุณค่าทางสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยทำการผสมสารละลายธาตุอาหาร A และ B เข้าด้วยกันในอัตราส่วน 1 : 1 ต่อน้ำ 120 ส่วน เพื่อสารละลายธาตุอาหารมีความเข้มข้นที่เหมาะสมกับความต้องการของผักสลัด

6. รอประมาณ 40-45 วัน

เมื่อทำตามขั้นตอนการปลูกผักสลัดครบทั้ง 5 ขั้นตอนแล้ว ให้ทุกคนรอประมาณ 40-45 วัน เพื่อให้ผักสลัดนั้นเติบโตตามวัฏจักรของพืช แต่ว่าผักสลัดบางชนิดอาจเติบโตเร็วกว่า หรือช้ากว่า 40-45 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชพันธุ์นั้นๆ ด้วย และเมื่อผักสลัดเติบโตเต็มที่แล้ว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในทันที

 

ข้อควรระวังในการปลูกผักสลัด

ข้อควรระวังในการปลูกผักสลัด

ถึงแม้ว่าการปลูกผักสลัดนั้นจะสามารถปลูกได้ง่ายๆ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังที่มือใหม่หลายๆ คนควรทราบไว้ โดยข้อควรระวังในการปลูกผักสลัด มีดังนี้

●      อย่ารดน้ำจนชุ่มเกินไป

การปลูกผักสลัดนั้นจะต้องคอยรดน้ำในช่วงเช้า และช่วงเย็นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของผักสลัด แต่ว่าไม่ควรรดน้ำจนชุ่มเกินไป เพราะอาจจะทำให้รากเน่า และส่งผลให้ผักสลัดนั้นไม่สามารถเติบโตได้

●      หลุมปลูกลึก หรือใหญ่เกินไป

การปลูกผักสลัดในหลุมที่ลึก หรือใหญ่จนเกินไป อาจทำให้เกิดน้ำขังในหลุมปลูกผัก ซึ่งทำให้ผักสลัดจะต้องแช่อยู่ในน้ำ และส่งผลให้ผักสลัดเน่าเสียได้ง่ายมากขึ้น

●      พรวนดินลึกเกินไป

ถ้าหากทำการพรวนดินที่ใช้ปลูกผักสลัดลึกเกินไป อาจทำให้กระทบกระเทือนราก หรือลำต้นของผักสลัดได้ และจะส่งผลให้ผักสลัดที่เติบโตมานั้นไม่สมบูรณ์ หรือเติบโตได้อย่างไม่เต็มที่

●      สังเกตอาการปลายใบไหม้

อาการใบไหม้ของผักสลัด เป็นอาการที่มือใหม่ทุกคนควรสังเกตเป็นอย่างมาก เพราะอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปุ๋ย หรือสารละลายที่เข้มข้นมากเกินไป อากาศร้อนเกินไป หรือมีเชื้อโรคสะสม เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถส่งผลให้ปลายผักสลัดไหม้ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด

 

ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยปลูกผัก หรือมีพื้นที่ในการปลูกน้อย ก็สามารถปลูกผักสลัดที่บ้านไว้ทานเองได้ เพียงแค่เลือกเมล็ดพันธุ์ผักที่ต้องการปลูก พร้อมกับเตรียมอุปกรณ์สำหรับปลูก และทำตามขั้นตอนในการปลูกผักสลัดแบบง่ายๆ ที่ได้นำมาฝากในบทความนี้ ทุกคนก็จะมีผักสลัดที่สด สะอาด สีสันน่าทาน และรสชาติอร่อยไว้ทานเองแล้ว หรือจะเลือกทำเป็นอาชีพเสริม ก็สามารถทำได้เช่นกัน

RELATED ARTICLES