KNOW HOW
  • FINANCIAL

    เปิด 5 วิธี ติดแบล็กลิสต์แต่อยากซื้อบ้าน กู้อย่างไรให้ผ่าน ?

    อยากมีบ้านของตัวเองแต่ติดแบล็กลิสต์ ทำอย่างไร เอพีมาพร้อม 5 เทคนิคแก้ไข-ปลดหนี้-กู้ร่วม พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้และออมเงิน เพื่อเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้ไวขึ้น

    AP THAILAND

    AP THAILAND

    ติดแบล็กลิสต์แต่อยากซื้อบ้าน

    MAIN POINT 

     

    • การติดแบล็กลิสต์หรือติดเครดิตบูโรอาจส่งผลให้คนที่อยากซื้อบ้านไม่สามารถกู้สินเชื่อผ่านได้ ซึ่งเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดี เช่น เบี้ยวชำระหนี้ ส่งไม่ตรงเวลาบ้าง เป็นต้น
    • การแก้ไขการติดแบล็กลิสต์สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหนี้ รวมหนี้ย่อยเป็นก้อนเดียว เจรจากับสถาบันการเงิน พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้และออมเงิน เพื่อให้เกิดวินัยและความน่าเชื่อถือมากขึ้น

     

    ติดแบล็กลิสต์แต่อยากซื้อบ้าน กู้อย่างไรให้ผ่าน ?

     

    ใครกำลังต้องการซื้อบ้านเป็นของตัวเองอยู่แต่กลับพบว่าตัวเองยังมีเครดิตไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเคยติดแบล็กลิสต์ของสินเชื่อหรือบัตรเครดิตอื่นๆ จากสถาบันการเงินมาก่อน ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทำให้พลาดโอกาสของการซื้อบ้าน แต่ใช่ว่าจะหมดโอกาสในการที่บ้านของตัวเองซะทีเดียวนะ เพราะว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาการถูกแบล็กลิสต์และสามารถซื้อบ้านได้อีกครั้ง วันนี้เอพีพามารู้จักตั้งแต่เรื่องของการติดเครดิตแบล็กลิสต์ พร้อมขั้นตอนและตัวช่วยไม่ให้ติดแบล็กลิสต์ เพื่อทุกคนสามารถเดินสู่เป้าหมายของการมีบ้านในฝันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น  

     

     

    ‘ติดแบล็กลิสต์’ คืออะไร มีโอกาสในการติดแค่ไหน?

    การติดแบล็กลิสต์ หรือเรียกอีกอย่างว่า การติดเครดิตบูโร ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันมากกว่า โดยมีความหมายถึงสถานะทางการเงินของคนที่มีพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดี เช่น มีการผิดนัดชำระหนี้หลายครั้ง หรือไม่ชำระหนี้เลย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีการไปกู้สินเชื่อแล้วไม่ผ่านจึงกลายเป็นความเข้าใจว่าเพราะติดแบล็กลิสต์หรือติดเครดิตบูโรอยู่ ส่งผลให้ธนาคารไม่อนุมัติ 

    ในความเป็นจริงแล้ว เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau) เป็นเพียงสถาบันที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลบัญชีสินเชื่อ และประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของทุกคนจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่งเท่านั้น จุดประสงค์เพื่อวัดระดับความน่าเชื่อถือของการทำธุรกรรมทางการเงินของเรา โดยทางเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน ประวัติการทำธุรกรรมต่างๆ ไว้ไม่เกิน 3 ปี  เพราะฉะนั้นแล้วการที่จะกู้ยื่นผ่านหรือไม่ผ่าน จะรู้ผลก็ต่อเมื่อธนาคารนำข้อมูลด้านเครดิตบูโรของเราไปประกอบการพิจารณานั่นเอง 

     

    เครดิตบูโรจัดเก็บข้อมูลเป็น 2 ส่วน ได้แก่

     

    • ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วัน-เดือน-ปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขบัตรประชาชน และในกรณีนิติบุคคลจะเป็นชื่อ ที่ตั้ง เลขทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น 
    • ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ เช่น ประวัติการกู้ซื้อบ้าน/กู้ซื้อรถ ผ่อนบัตรเครดิตอยู่กี่ใบ มีสินเชื่อทั้งหมดกี่บัญชี สถานะของแต่ละบัญชี และประวัติการผ่อนชำระ เป็นต้น

     

    เช็กเครดิตบูโรได้ทางไหนบ้าง ?

    ถ้าไม่มั่นใจว่าตัวเองมีเครดิตบูโรที่ดีมากพอจะยื่นกู้ หรือติดแบล็กลิสต์อยู่ไหม สามารถลองยื่นเรื่องเพื่อขอเช็กได้ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะ

     

    • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) แบบรอรับได้เลย ภายใน 15 นาที เพียงใช้บัตรประชาชนของตนเอง แล้วไปยื่นเรื่องได้เลย
    • ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รับรายงานเครดิตการเงินผ่านทางอีเมล ได้ทันที
    • กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แบบส่งรายงานกลับไปให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 7 วันทำการ ติดต่อได้ที่ เคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) และที่ทำการไปรษณีย์ เคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ ทุกแห่งทั่วประเทศ
    • กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แบบส่งรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล สามารถตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารชั้นนำ 

     

    5 เทคนิคช่วยปรับเปลี่ยนสถานภาพทางการเงิน ไม่ให้ติดแบล็กลิสต์อีกต่อไป!

    สำหรับใครที่พอเช็กแล้วพอว่าตัวเองกำลังติดเครดิตแบล็กลิสต์อยู่ ไม่ต้องใจเสียไป เพราะว่ายังมีวิธีที่สามารถเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนให้เครดิตของเรากลับมาดูดี น่าเชื่อถือ พร้อมยื่นกู้บ้านได้

     

     

    1.ปรับวิธีการชำระหนี้ที่มีอยู่ 

    เริ่มต้นด้วยการปรับวิธีการชำระหนี้ให้เหมาะสมต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือตรวจสอบดูว่ามีหนี้สินคงค้างใดบ้าง และจัดอันดับความสำคัญของหนี้ในแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งการจัดอันดับนี้จะต้องลงลิสต์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ครบเพื่อการจัดสรรหนี้อย่างถูกต้อง ในกรณีที่เป็นหนี้ย่อยจากสถาบันการเงินเดียวกันก็จัดให้อยู่ในก้อนเดียวเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงตามไปด้วย 

     

    ข้อสำคัญ

    • การปรับพฤติกรรมการใช้หนี้ให้ตรงเวลา และจะต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกเดือนจนกว่าจะหมดหนี้ที่เป็นอยู่ เพื่อเป็นการสร้างเครดิตใหม่ นอกจากนั้นอย่าลืมเรื่องของการเก็บใบเสร็จต่าง ๆ ในการชำระหนี้ไว้ให้ครบทุกใบ เพื่อนำมาสู่การเป็นหลักฐานสำหรับการยื่นกู้ซื้อบ้านในอนาคต

     

     

    2.เจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้

    ในกรณีที่ถ้าเราดันมีหนี้ที่คงค้างสูงจนรู้สึกเกินกำลังจริงๆ  ให้เข้าเจรจาต่อรองกับสถาบันการเงิน เพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ผ่านการยื่นขอลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือการขยายระยะเวลาในการชำระแทน ส่วนหนี้สินย่อยแต่เป็นสถาบันการเงินเดียวกันอาจใช้วิธีรวมกันก้อนเดียวหรือการเจรจาเพื่อขอสถาบันการเงินลดต้นลดดอก ทั้งสองวิธีจะช่วยให้สามารถชำระหนี้ให้หมดได้ง่ายและเร็วขึ้น 

    ข้อสำคัญ

    • ในช่วงเวลาของการปรับโครงสร้างหนี้ เราต้องจ่ายให้ตรงเวลาที่สุด เพราะฉะนั้นจึงควรคำนวณให้ดีก่อน ว่าจะจ่ายวันใดที่เหมาะสมและสะวดกกับตัวเรามากที่สุด เพื่อทำให้สถาบันการเงินรู้สึกมั่นใจต่อการชำระคืนและไม่ทำให้เครดิตของเราเสียหายมากขึ้น 

     

     

    3.เก็บเงินออม ปรับพฤติกรรมด้านการใช้เงิน

    หลังจากเราเริ่มชำระหนี้เดิมได้พอสมควร เอพีแนะนำให้เริ่มเก็บเงินออมร่วมไปด้วย พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ถ้าเป็นไปได้ก็อาจลดการใช้บัตรเครดิตและลดการซื้อสิ่งของต่างๆ เพื่อให้มีเงินเก็บในธนาคารมากพอในการสร้างเครดิตใหม่หลังการปลดแบล็กลิสต์ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเตรียมตัวหลังจากปลดหนี้ได้หมด

    ข้อสำคัญ

    • ในช่วงระยะเวลาของการชำระหนี้เก่า เก็บออมเงินใหม่ๆ ควรจะตรวจสอบข้อมูลแบล็กลิสต์อย่างสม่ำเสมอ พร้อมเก็บหลักฐานไว้ เพื่อใช้ในการยืนยันกับธนาคารที่ต้องการขอกู้บ้านต่อไปว่า เรามีความสามารถพอที่จะปลดแบล็กลิสต์ของตัวเองลงได้  
    • ส่วนของเครดิตบูโรที่คุณตรวจสอบนั้นควรอัพเดตเสมอๆ เหมือนกัน เพราะหลังจากที่เราจ่ายหนี้สินจนครบถ้วนแล้ว ชื่อของเราจะยังคงติดอยู่ภายในข้อมูลเครดิตบูโรไปอีกยาวถึง 3 ปีตามที่แจ้งไว้ด้านบน ดังนั้นแล้ว ที่สำคัญคือในช่วงเวลานี้ไม่ควรเป็นหนี้ก้อนใหญ่ใดๆ เพิ่มอีกเด็ดขาดและควรรักษาเครดิตที่ดีไว้เสมอ

     

    4.สร้างเครดิตใหม่ พร้อมมั่นใจว่าชำระได้แน่นอน

    หลังจากจ่ายหนี้ครบ ออมเงินได้พอสมควร และเป็นช่วงเวลารอชื่อหลุดจากแบล็กลิสต์ 3 ปี ก็สามารถยื่นกู้ได้ หรือต้องการยื่นกู้ให้ได้รับการอนุมัติเร็วขึ้น แนะนำให้สร้างเครดิตใหม่ขึ้นมาซึ่งเป็นเครดิตนี้ต้องมีความน่าเชื่อถือสูง เช่น การขอสินเชื่อเงินกู้ต่างๆ จากสถาบันการเงิน หรือการทำบัตรเครดิตที่วงเงินไม่จำเป็นต้องสูงมาก เพียงแต่เราต้องมั่นใจว่าสามารถชำระเงินได้และไม่เกิดเป็นหนี้สินภายหลัง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับธนาคาร แต่สำหรับผู้ที่ปลดแบล็กลิสต์ใหม่อาจจะยื่นขอกู้ต่าง ๆ ได้ไม่ง่ายนัก อาจเลือกวิธีการกู้ร่วมกับบุคคลในครอบครัวที่ไม่เคยติดแบล็กลิสต์มาก่อนและมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ก็เป็นอีกแนวทางที่ง่ายขึ้น

     

     

     5.เพื่อความมั่นใจให้ธนาคารด้วยการกู้ร่วมกับบุคคลใกล้ชิด

     สำหรับข้อสุดท้ายที่เอพีแนะนำ เป็นอีกขั้นตอนที่อาจทำให้เรากู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านให้ได้เร็วมากที่สุด และผ่านการอนุมัติง่ายกว่าเดิม คือการกู้ร่วมกับบุคคลใกล้ชิดนั่นเอง เช่น ญาติหรือคู่สมรส โดยผู้ที่กู้ร่วมด้วยจะต้องไม่เคยติดแบล็กลิสต์ มีเครดิตบูโรที่ดีเสมอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจให้กับธนาคารหรือสถานบันการเงินที่จะให้สินเชื่อกับเราว่าเราสามารถจ่ายชำระได้ และมีอีกหนึ่งบุคคลมาช่วยจ่ายด้วยนั่นเอง

     

    ติดแบล็กลิสต์แก้ไขได้ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการใช้เงิน

    สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือกลุ่มอาชีพไหนก็ตามที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการมีบ้านเป็นของตัวเอง หลังจากอ่านบทความนี้จบอาจะพบว่าตัวเองเริ่มมีพฤติกรรมที่อาจติดแบล็กลิสต์ได้ ควรรีบปรับเปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะต้องมาตามแก้ไขปัญหาภายหลัง ตลอดจนคนที่กำลังแก้ไขการติดแบล็กลิสต์ด้วยก็นำขั้นตอนที่เราเสนอไปลองใช้งานตามความเหมาะสมได้ เพราะเอพีเข้าใจเสมอว่าความสุขของการได้อยู่บ้าน คือการได้อยู่ในพื้นที่พักผ่อนที่เป็นของเราเอง เอพีร่วมเป็นกำลังใจให้กับทุกคนเพื่อเป้าหมายของบ้านในฝัน 

     

    เอพี ไทยแลนด์ เติมเต็มเป้าหมาย ชีวิตดี ๆ ในพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเองได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋ง รองรับทุกธุรกิจ ก็เลือกให้ตอบโจทย์ได้เลย เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย

     

     

    EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ

    RELATED ARTICLES