KNOW HOW
  • Witty Hacks

20 วิธีประหยัดไฟในบ้านช่วงหน้าร้อนแบบง่าย ๆ แต่ได้ผล

แค่รู้วิธีประหยัดไฟก็ช่วยลดค่าไฟในบ้านได้แล้ว! กับ 20 วิธีการประหยัดไฟที่ทำง่ายและได้ผลจริง บ้านไหนอยากลดภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ไม่ควรพลาด!

AP THAILAND

AP THAILAND

วิธีประหยัดไฟฟ้า

MAIN POINT

 

  • ปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟในแต่ละเดือนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบไปด้วย กำลังการใช้ไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน จำนวนชั่วโมงในการใช้งาน รวมถึงพฤติกรรมการใช้และการดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้น
  • วิธีประหยัดไฟในบ้านมีด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้หลอดไฟ LED, การตั้งเวลาเปิด-ปิดแอร์, การทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า, การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน, การเลี่ยงการใช้ความร้อนตอนเปิดแอร์ และการรีดผ้าครั้งละหลาย ๆ ชุด เป็นต้น

 

ด้วยอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นทุกวัน ทำให้หลายบ้านต้องเจอกับปัญหาค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นในทุก ๆ เดือน วันนี้ AP Thai เลยรวบรวม 20 วิธีประหยัดไฟในบ้านที่ทั้งทำตามง่ายและสามารถช่วยลดค่าไฟในแต่ละเดือนได้จริง ซึ่งเป็นอีกทางที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้านได้เป็นอย่างดี ว่าแต่จะมีวิธีไหนบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย!

 

วิธีคำนวณค่าไฟแบบเบื้องต้น

การคำนวณค่าไฟ

 

ก่อนจะไปรู้จักกับวิธีการประหยัดไฟ มาทำความเข้าใจกับการคำนวณค่าไฟเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า ซึ่งเราจะต้องรู้ก่อนว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องในบ้านใช้ไฟจำนวนกี่วัตต์ พร้อมคาดคะเนจำนวนชั่วโมงในการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ ในแต่ละวัน ตัวอย่างเช่น

 

  • เครื่องปรับอากาศ : ใช้กำลังไฟ 1,500 วัตต์ เปิดใช้งานวันละ 8 ชั่วโมง มี​​จำนวน 1 เครื่อง
  • โทรทัศน์ : ใช้กำลังไฟ 90 วัตต์ เปิดใช้งานวันละ 4 ชั่วโมง มี​​จำนวน 1 เครื่อง
  • หลอดไฟ : ใช้กำลังไฟ 30 วัตต์ เปิดใช้งานวันละ 6 ชั่วโมง มี​​จำนวน 5 หลอด

 

จากนั้นให้เอาตัวเลขทั้งหมดที่ได้มาคำนวณเพื่อหาจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือน โดยใช้สูตรการคำนวณตามด้านล่างนี้

 

( กำลังไฟฟ้า (วัตต์) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ÷ 1,000 ) x จำนวนชั่วโมงต่อ 1 วัน
= จำนวนหน่วยต่อวัน (ยูนิต)

 

ซึ่งจะคำนวณออกมาได้ดังนี้

 

  • เครื่องปรับอากาศ : ( 1,500 x 1 ÷ 1,000 ) x 8 = 12 หน่วย/วัน หรือ 12 x 30 = 360 หน่วย/เดือน
  • โทรทัศน์ : ( 90 x 1 ÷ 1,000 ) x 4 = 0.36 หน่วย/วัน หรือ 0.36 x 30 = 10.8 หน่วย/เดือน
  • หลอดไฟ : ( 30 x 5 ÷ 1,000 ) x 6 = 0.9 หน่วย/วัน หรือ 0.9 x 30 = 27 หน่วย/เดือน

 

ต่อมานำจำนวนหน่วยที่ได้ทั้งหมดมารวมกัน จะหมายถึงการใช้ไฟฟ้าประมาณ 360 + 10.8 + 27 = 397.8 หน่วย/เดือน

 

การคำนวณค่าไฟ

 

โดยการหาค่าไฟฟ้าจะต้องคำนวณแบบขั้นบันได ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังนี้

 

  • 150 หน่วยแรก (1-150) จะเป็น 150 x 3.2484 = 487.26 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป (151-397.8) จะเป็น 247.8 x 4.2218 = 1,046.16 บาท

 

ซึ่งรวมเป็นเงิน 487.26 + 1,046.16 = 1,533.42 บาท

 

และปิดท้ายด้วยการคำนวณค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งค่า Ft คือค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปตาม ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยจะถูกปรับทุก 4 เดือน ซึ่งค่า Ft ประจำเดือน กันยายน-ธันวาคม 2567 อยู่ที่ 39.72 สตางค์/หน่วย และมีสูตรการคำนวณ ดังนี้

 

( ค่าไฟฟ้าที่คำนวนได้ + (ค่า Ft x จำนวนหน่วย) ÷ 100 ) x 1.07 = ค่าไฟฟ้าทั้งหมด

( 1,533.42 + (39.72 x 397.8) ÷ 100 ) x 1.07 = 1,809.83 บาท/เดือน

 

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ทุกคนจะเห็นได้ว่า กำลังไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าและจำนวนชั่วโมงในการใช้งาน ล้วนส่งผลต่อค่าไฟทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าบ้านไหนอยากให้ค่าไฟที่บ้านถูกลง ก็ต้องรู้วิธีประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพื่อเอาไปประยุกต์ใช้ตาม ว่าแต่วิธีการประหยัดไฟในบ้านจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!

 

บอกต่อ! 20 วิธีประหยัดไฟง่าย ๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน

1. ใช้ระบบ Smart Home บ้านอัจฉริยะ

การควบคุมแอร์ผ่านโทรศัพท์

 

ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมามากมาย ทำให้มีนวัตกรรมอย่างระบบ Smart Home ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนในบ้าน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อย่างการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้แม้ตัวจะไม่อยู่บ้าน รวมถึงนวัตกรรมเซนเซอร์ประหยัดพลังงาน ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจะหยุดทำงาน หากไม่มีคนอยู่ในบริเวณนั้น

 

2. เลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี LED

หลอดไฟ LED

 

ในท้องตลาดมีหลอดไฟให้เลือกหลายแบบ ทั้งหลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดหลอดตะเกียบ แต่หลอดไฟที่มีคุณสมบัติช่วยประหยัดพลังงานได้ดีที่สุด คือ หลอดไฟแอลอีดี LED ที่มาพร้อมอายุการใช้งานมากกว่าหลอดไส้ถึง 15 เท่า แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไฟแบบอื่น ๆ อีกด้วย

 

3. เลือกตำแหน่งวางตู้เย็นให้ดี

การวางตู้เย็น ไม่ให้โดนแสงแดด

 

หลายบ้านอาจจะละเลยเรื่องนี้ไป แต่จริง ๆ แล้วการเลือกตำแหน่งในการวางตู้เย็นถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยประหยัดไฟได้ เนื่องจากภายในตู้เย็นจะต้องทำความเย็นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงควรวางตู้เย็นให้ด้านหลังและด้านข้างห่างจากผนังอย่างน้อย 10 ซม. เพื่อช่วยในการถ่ายเทความร้อน และไม่ควรวางในที่ที่โดนแสงแดดหรืออยู่ใกล้แหล่งความร้อน เพื่อช่วยให้ตู้เย็นไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป

 

4. ปรับอุณหภูมิน้ำของเครื่องซักผ้าให้เหมาะสม

การตั้งค่าเครื่องซักผ้า

 

ด้วยฟังก์ชันการใช้งานเครื่องซักผ้าสมัยใหม่ ที่สามารถปรับอุณหภูมิน้ำในการซักผ้าได้ ทำให้หลายบ้านอาจเผลอปรับอุณหภูมิน้ำให้สูงเกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะทำให้เปลืองไฟแล้ว ความร้อนของน้ำอาจไปทำลายเสื้อผ้าโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ก่อนซักผ้าควรอ่านสัญลักษณ์บนป้ายเสื้อผ้าให้ดีว่าสามารถซักด้วยน้ำร้อนได้หรือไม่ เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำให้เหมาะสมมากขึ้น

 

5. ตั้งเวลาเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ

ตั้งเวลาเปิด - ปิดเครื่องปรับอากาศ

 

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟค่อนข้างเยอะ ดังนั้น การตั้งเวลาเปิด-ปิดจึงช่วยลดค่าไฟได้ โดยให้ตั้งเวลาเปิดก่อนถึงเวลานอนเล็กน้อย เพื่อให้อากาศภายในห้องเย็นพอดี และตั้งปิดล่วงหน้าก่อนที่จะตื่นประมาณ 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากหลังปิดเครื่องปรับอากาศ อากาศภายในห้องจะยังเย็น ซึ่งช่วยให้หลับสบาย แถมยังเป็นวิธีประหยัดไฟที่ได้ผลจริงอีกด้วย

 

6. เปิดม่านรับแสงจากธรรมชาติ

เปิดม่านรับแสงธรรมชาติ

 

แสงธรรมชาติถือเป็นของดีที่ทุกบ้านไม่ควรละเลย เพราะเราสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันได้ โดยการเปิดม่านเพื่อรับแสงจากธรรมชาติ เพื่อลดการเปิดไฟในช่วงกลางวันลง แต่ทุกคนในบ้านยังคงสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแสงสว่างจากหลอดไฟนั่นเอง

 

7. ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นประจำ

มิเตอร์ไฟฟ้า

 

อีกวิธีประหยัดไฟ คือ การสังเกตจำนวนหน่วยในทุก ๆ เดือน เพื่อให้รู้ถึงจำนวนไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือนว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร และจะต้องไม่ลืมตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามิเตอร์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ได้ชำรุดหรือเสียหายจนทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น

 

8. หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า

ล้างแอร์เป็นประจำทุก 6 เดือน

 

ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ รวมถึงเครื่องดูดฝุ่น ที่เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะสกปรกและเต็มไปด้วยฝุ่น จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แถมยังเปลืองไฟมากกว่าเดิมอีกด้วย ดังนั้น ทุกบ้านจึงควรทำความสะอาดและดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมอยู่เสมอ

 

9. ใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นให้ถูกวิธี

เครื่องทำน้ำอุ่น

 

โดยการควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 40 องศา และขณะที่กำลังทำความสะอาดร่างกายไม่ควรเปิดน้ำทิ้งเอาไว้ รวมถึงต้องคอยเช็กสภาพเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่เสมอว่ามีปัญหาตรงไหนหรือไม่ เพราะอาจส่งผลให้เครื่องทำน้ำอุ่นกินไฟได้ และต้องไม่ลืมเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมเช็กภายในตัวเครื่องว่ามีฉนวนหุ้มหรือไม่ เพราะสามารถช่วยลดพลังงานได้ถึง 10%

 

10. ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้งาน

การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

เป็นวิธีการประหยัดไฟที่ทุกบ้านน่าจะรู้กันดี เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้แม้ไม่ได้ใช้งาน ก็จะยังมีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปิดใช้งาน ดังนั้น หากบ้านไหนอยากลดค่าไฟในแต่ละเดือน จะต้องถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังปิดการใช้งาน ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดไฟได้แล้ว ยังช่วยป้องอันตรายจากการเกิดอัคคีภัยได้อีกด้วย

 

11. ติดตั้งระบบระบายอากาศที่ดี

การติดตั้งระบบระบายอากาศ

 

เนื่องจากในห้องปิดที่อากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวก จะส่งผลให้อากาศภายในห้องอบอ้าวและร้อนมากกว่าปกติ การติดตั้งระบบระบายอากาศที่ดี จะช่วยให้อากาศภายในห้องเกิดการหมุนเวียน พร้อมระบายความร้อนไปในตัว ช่วยให้คนในบ้านไม่รู้สึกร้อนจนต้องเปิดแอร์ในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นอีกวิธีประหยัดไฟที่ทุกบ้านสามารถทำตามกันได้

 

12. เลี่ยงการใช้ความร้อนตอนเปิดแอร์

รีดผ้า เพิ่มการทำงานหนักของแอร์

 

เชื่อว่าหลายบ้านอาจจะเผลอทำพฤติกรรมที่ทำให้แอร์ทำงานหนักแบบไม่รู้ตัว อย่างการใช้ความร้อนตอนเปิดแอร์ ไม่ว่าจะเป็น การรีดผ้า การใช้หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน รวมถึงเตาปิ้งย่างในห้องแอร์ ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สร้างความร้อน จะส่งผลให้อุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้น และทำให้แอร์ทำงานหนักเกินจำเป็น ดังนั้น การเลี่ยงใช้ความร้อนตอนเปิดแอร์ จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยประหยัดไฟได้

 

13. เปิดพัดลมคู่กับการเปิดแอร์

การเปิดใช้งานพัดลม

 

ในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนมาก ๆ หลายบ้านอาจจะเลือกปรับลดอุณหภูมิแอร์ให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อให้อากาศภายในบ้านเย็นมากขึ้น แต่สิ่งนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟพุ่งสูง เพราะแอร์ต้องทำงานหนักเพื่อสู้กับความร้อนภายนอก ดังนั้น ทางที่ดีจึงควรเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ไปพร้อม ๆ กับการเปิดพัดลม เพื่อช่วยกระจายและเพิ่มความเย็นภายในบ้าน

 

14. เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟ

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

 

เป็นวิธีประหยัดพลังงานไฟฟ้าแบบเบื้องต้นที่ทำตามได้ง่าย เพียงแค่เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ มีการจัดการและระบบการทำงานที่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟได้ในระยะยาว

 

15. พยายามไม่เปิดตู้เย็นบ่อย ๆ

เปิดตู้เย็นบ่อย ๆ ทำให้เครื่องทำงานหนัก

 

นอกจากการวางตำแหน่งตู้เย็นจะสำคัญแล้ว อีกหนึ่งวิธีประหยัดค่าไฟ คือ การพยายามไม่เปิดตู้เย็นเกินความจำเป็น เนื่องจากทุกครั้งที่เราเปิดตู้เย็น จะทำให้อุณหภูมิภายในตู้เพิ่มสูงขึ้น เพราะอากาศเย็นไหลออกจากตู้ ซึ่งส่งผลให้ตู้เย็นทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้น จึงควรเปิดตู้เย็นเท่าที่จำเป็น และต้องคอยจัดระเบียบตู้เย็นอยู่เสมอ เพื่อให้อากาศภายในตู้เย็นไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น

 

16. สวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าโปร่งสบาย

เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย

 

ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าสภาพอากาศในประเทศไทยร้อนมากแค่ไหน ซึ่งการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี จะช่วยให้รู้สึกเย็นและสบายตัวมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ในช่วงเวลากลางวัน รวมถึงการลดอุณหภูมิแอร์ที่ต่ำจนเกินไปในช่วงกลางคืน

 

17. หมั่นอาบน้ำเพิ่มความสดชื่น

อาบน้ำ เพิ่มความสดชื่น

 

นอกเหนือจากการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมจะช่วยให้ร้อนน้อยลงแล้ว การอาบน้ำก็มีส่วนช่วยในการลดอุณหภูมิภายในร่างกาย แถมยังทำให้รู้สึกสบายตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น วันไหนหากรู้สึกว่าอากาศร้อนเป็นพิเศษ ให้ลองอาบน้ำแทนการเปิดแอร์ นอกจากจะเป็นวิธีประหยัดไฟแล้ว ยังช่วยให้รู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นอีกด้วย

 

18. รีดผ้าครั้งละหลาย ๆ ชุด

รีดผ้าครั้งละมาก ๆ เพื่อช่วยประหยัดไฟ

 

เนื่องจากเตารีดจะใช้พลังงานสูงเป็นพิเศษในช่วงที่เปิดใช้งาน เพราะต้องเร่งทำอุณหภูมิให้สูงเท่าที่ตั้งค่าไว้ ดังนั้น หากบ้านไหนเลือกรีดผ้าครั้งละน้อย ๆ แต่รีดหลาย ๆ ครั้ง จะส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทางที่ดีจึงควรรีดผ้าครั้งละหลาย ๆ ชุด เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าลง

 

19. บอกลาเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า

การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่

 

สำหรับบ้านไหนที่รู้สึกว่าพยายามลดการใช้ไฟฟ้าลงแล้ว แต่ค่าไฟในแต่ละเดือนก็ยังลดลงไม่เยอะเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้อยู่เก่าเกินไป ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ ดึงพลังงานมาใช้มากเกินไป จนทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น หากเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นไหนอายุเกิน 10 ปี ควรเปลี่ยนใหม่ ซึ่งเป็นอีกวิธีการประหยัดไฟที่ช่วยได้

 

20. ปลูกต้นไม้บริเวณรอบบ้าน

ปลูกต้นไม้รอบบ้าน

 

เป็นวิธีประหยัดไฟที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง เนื่องจากการปลูกต้นไม้บริเวณรอบบ้าน สามารถช่วยเพิ่มร่มเงาให้กับบ้าน ช่วยลดอุณหภูมิรอบตัวบ้าน และช่วยกรองแสงแดดไม่ให้โดนตัวบ้านแบบตรง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความเย็นให้กับบ้านได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความสดชื่นให้คนในบ้านได้อีกด้วย

 

ใช้วิธีประหยัดไฟในบ้าน ช่วยลดค่าไฟในแต่ละเดือน

ทั้งหมดนี้คือ 20 วิธีการประหยัดไฟในบ้านที่สามารถช่วยลดค่าไฟในแต่ละเดือนลงได้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะบ้านที่กำลังเจอปัญหาค่าไฟแพง และต้องการวิธีรวมถึงเทคนิคดี ๆ ในการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้าน ก็สามารถเอาวิธีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กันได้



เพิ่มความรู้ในการดูแลบ้านแบบมืออาชีพ ได้ที่นี่!

 

เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต

เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดดีไซน์สวย คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย

 

 

EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ

RELATED ARTICLES