วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน สำหรับทาสมือใหม่ เลี้ยงแมวอย่างไรให้ฉลาด

LIVING SERIES · Pet Friendly

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน สำหรับทาสมือใหม่ เลี้ยงแมวอย่างไรให้ฉลาด

05 Nov 2021

แชร์ไปยัง

MAIN POINT

 

  • วิธีเลี้ยงแมวสำหรับทาสมือใหม่ ควรเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ ตั้งแต่การเตรียมบ้านให้พร้อม ทั้งพื้นที่ปลอดภัยและของใช้จำเป็น เมื่อเจ้าเหมียวมาอยู่ด้วย ควรฝึกให้คุ้นบ้าน ค่อย ๆ ให้อาหารตามช่วงวัย และสอนนิสัยให้น่ารัก ขับถ่ายเป็นที่ ไม่ข่วนเฟอร์นิเจอร์ อาบน้ำบ้างเป็นครั้งคราว ให้ทุกวันของเหล่าทาสกับเจ้าเหมียวเต็มไปด้วยความสุข
  • เคล็ดลับดูแลสุขภาพแมวให้แข็งแรง คือ พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็นให้ครบ ดูแลเรื่องเห็บหมัดและถ่ายพยาธิ พร้อมตรวจสุขภาพเป็นประจำ และทำหมันเมื่อถึงเวลา เพื่อให้เจ้าเหมียวมีความสุข สุขภาพดี และเป็นเพื่อนรักของทาสไปนาน ๆ

 

 

เริ่มต้นชีวิตดี ๆ กับการเลี้ยงเจ้าเหมียวในบ้าน ให้ทั้งทาสและน้องแมวมีความสุขและสุขภาพดี ด้วยวิธีเลี้ยงแมวสำหรับทาสมือใหม่ ที่หากเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ ก็สามารถดูแลแบบมือโปรได้ไม่ยาก บทความนี้ AP Thai รวมเคล็ดลับที่ทาสมือใหม่ต้องรู้ ตั้งแต่การเตรียมบ้านให้พร้อม ไปจนถึงการดูแลอาหาร สุขภาพ และการฝึกนิสัยพื้นฐาน ให้เจ้าเหมียวแข็งแรง น่ารัก และอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นไปนาน ๆ

วิธีเตรียมตัวก่อนรับแมวเข้าบ้าน

1. เตรียมพื้นที่ภายในบ้านสำหรับแมว

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน เริ่มจากเตรียมพื้นที่ในบ้าน

 

ก่อนที่เจ้าเหมียวจะเดินทางมาถึง ทาสควรจัดมุมส่วนตัวเล็ก ๆ ให้เป็นโลกส่วนตัว เพื่อให้น้องแมวได้รู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น พื้นที่นี้จะเป็นจุดที่น้องแมวค่อย ๆ ปรับตัวกับบ้านใหม่ และใช้เป็นที่พักผ่อน กินข้าว ขับถ่าย และเล่นสนุก

ขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม

โดยทั่วไป ทาสควรเตรียมพื้นที่เลี้ยงน้องแมวอย่างน้อย 18–20 ตารางฟุต (ประมาณ 1.7–1.9 ตารางเมตร) แต่ควรพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ด้วย

 

  • ขนาดและสายพันธุ์: แมวพันธุ์ใหญ่มักต้องการพื้นที่มากกว่าแมวพันธุ์เล็ก 
  • อายุของแมว: ลูกแมวจะชอบพื้นที่กว้างไว้สำรวจ แต่สำหรับแมววัยโตหรือสูงวัย ขอแค่มีมุมเงียบ ๆ ที่นอนนุ่ม ๆ กับของใช้จำเป็นใกล้ตัวก็แฮปปี้แล้ว
  • จำนวนแมวในบ้าน: ถ้ามีมากกว่าหนึ่ง ควรเตรียมมุมส่วนตัวแยกให้แต่ละตัวด้วยนะ จะได้ไม่ต้องแย่งกันนอน ไม่ทะเลาะกันเวลาอยากอยู่เงียบ ๆ
  • พลังงานและนิสัย: บางตัวขี้เล่น วิ่งปรู๊ดขึ้นลงทั้งวัน ก็ต้องมีพื้นที่ให้ปีน กระโดด หรือซ่อนตัว ส่วนแมวที่ชอบงีบ แค่มีมุมนอนสบาย ๆ ก็ไม่ขออะไรเพิ่มแล้ว

สภาพแวดล้อมที่รู้สึกปลอดภัย

  • เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน: เจ้าเหมียวเป็นสัตว์รักสันโดษและขี้ระแวงนิด ๆ ถ้ามีมุมเงียบ ๆ ให้หลบไปนอนสบายใจ จะช่วยให้น้องแมวรู้สึกปลอดภัยและปรับตัวได้ง่าย แนะนำให้เลี่ยงบริเวณที่คนเดินผ่านเยอะ หรือมีเสียงดัง เช่น ห้องครัว ทีวี หรือประตูเข้าออกบ่อย ๆ
  • มีพื้นที่แนวตั้งให้ปีนป่าย: แมวเป็นนักสำรวจตัวจิ๋วที่ชอบปีนป่ายไปตามชั้นวาง ต้นไม้แมว หรือคอนโดแมว การเตรียมพื้นที่แนวตั้งให้ได้ขึ้นไปดูโลกจากมุมสูง จะช่วยให้เค้ารู้สึกมั่นใจและสนุกกับบ้านมากขึ้น
  • วางของใช้ให้เป็นสัดส่วน: เจ้าเหมียวก็แอบเจ้าระเบียบนะ เค้าชอบให้สิ่งต่าง ๆ อยู่เป็นที่เป็นทาง เช่น ที่นอนนุ่ม ๆ วางห่างจากกระบะทราย ชามข้าวไม่อยู่ใกล้ของเล่นเกินไป การจัดวางให้เป็นโซน ๆ ไม่แออัด จะทำให้เค้ารู้สึกว่า "ทาสนี่แหละรู้ใจจริง ๆ"

2. เตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับแมว

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน เริ่มจากเตรียมของใช้ที่จำเป็น

 

อีกหนึ่งเรื่องที่เหล่าทาสมือใหม่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเลี้ยงน้องแมวในบ้านและคอนโด คือ ของใช้จำเป็น ที่จะช่วยให้น้องแมวรู้สึกสบายใจ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตั้งแต่วันแรก โดย 10 ไอเทมพื้นฐานที่ทาสแมวมือใหม่ควรมีติดบ้านไว้

 

  • อาหารแมว: เลือกสูตรที่เหมาะกับช่วงวัยของแมว เช่น อาหารลูกแมว วัยโต หรือแมวสูงวัย ให้ได้ปริมาณแคลลอรีและสารอาหารที่เหมาะกับสุขภาพ รวมถึงประเภทอาหารที่เจ้าเหมียวชอบระหว่างอาหารเม็ดและอาหารเปียก
  • ชามใส่อาหารและน้ำ: แนะนำให้ใช้ชามเซรามิกหรือสแตนเลส เพราะทำความสะอาดง่ายและไม่อมกลิ่น อย่าลืมวางถ้วยน้ำหรือน้ำพุแมวไว้ให้ดื่มได้ตลอดทั้งวัน
  • กระบะทรายแมวหรือห้องน้ำแมว: ควรเลือกแบบที่ล้างง่าย ขนาดพอเหมาะ และวางในมุมสงบ เพื่อให้น้องแมวรู้สึกปลอดภัยเวลาทำธุระ
  • ทรายแมว: มีให้เลือกหลายแบบ เช่น แบบจับตัวเป็นก้อน คริสตัล หรือธรรมชาติ ลองเลือกแบบที่เหมาะกับแมวและสะดวกต่อการทำความสะอาด
  • เตียงนอนหรือเบาะนุ่ม ๆ: แมวชอบงีบมาก! การมีมุมอุ่น ๆ กับเบาะนุ่ม ๆ จะช่วยให้เค้ารู้สึกสบายใจเหมือนอยู่ในรังของตัวเอง
  • ที่ลับเล็บแมว: จำเป็นมาก! เพราะเจ้าเหมียวมีสัญชาตญาณนักล่าที่ต้องเตรียมลับเล็บให้แหลมคมตลอดเวลา จึงควรมีที่ลับเล็บแมว เพื่อให้น้องแมวฝนเล็บได้ถูกที่ ป้องกันไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ในบ้านกลายเป็นสนามซ้อมข่วน
  • แชมพูอาบน้ำแมว: เลือกแชมพูสูตรอ่อนโยนสำหรับแมวโดยเฉพาะ ห้ามใช้ของคนเด็ดขาด ตามสูตรต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์เจ้าเหมียวของทาสโดยเฉพาะ
  • หวีหรือแปรงขน: ควรมีแปรงสลิกเกอร์สางขนให้สลวย และแปรงซิลิโคนนวดผ่อนคลาย โดยเฉพาะแมวขนยาว ควรแปรงขนเป็นประจำเพื่อลดขนร่วงและป้องกันการสะสมก้อนขนในกระเพาะ
  • ของเล่นแมว: เช่น ไม้ตกแมว ลูกบอล ของเล่นเล็ก ๆ จะช่วยให้น้องแมวไม่เบื่อ และยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทาสกับเจ้าเหมียวด้วย 
  • กรงหิ้วหรือกระเป๋าเดินทางแมว: ควรเลือกแบบแข็งแรง ระบายอากาศดี ให้แมวรู้สึกปลอดภัย เวลาต้องพาเจ้าเหมียวไปหาหมอหรือเดินทาง

วิธีฝึกแมวให้คุ้นเคยกับบ้านใหม่

วิธีเลี้ยงแมวในบ้านให้คุ้นเคยกับบ้านใหม่

 

1. ตั้งชื่อแมวให้เรียกง่าย

การตั้งชื่อน้องแมวที่ดีควรเรียกง่าย ไม่เกินสองพยางค์ และหลีกเลี่ยงเสียงที่ฟังคล้ายคำขู่ฟ่อ ๆ หรือคำสั่ง เช่น “ชิ่ว” หรือ “ไป!” เพราะอาจทำให้น้องสับสนเวลาทาสเรียก เช่น

 

  • ตั้งชื่อแมวตามสีขน 
    • สีขาว: สำลี ปุยฝ้าย กะทิ
    • สีส้ม: ส้มส้ม แซลมอน ชาเย็น
    • สีดำ: โอเลี้ยง เฉาก๊วย ชาโคล
    • แมวสามสี: รวมมิตร ซาหริ่ม บัวลอย
  • ตั้งชื่อแมวตามความหมายมงคล อย่าง นำโชค เฮงเฮง มารวย
  • ตั้งชื่อแมวตามของโปรดหรือความชอบของทาส อย่าง ไข่ตุ๋น ทองม้วน โมจิ

2. ฝึกให้แมวจำชื่อตั้งแต่เล็ก

ตั้งชื่อแล้ว ก็ต้องฝึกให้น้องรู้ว่า “นี่แหละ ชื่อของเรา” วิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้น้องแมวจดจำชื่อได้เร็วตั้งแต่เล็ก คือ เรียกชื่อบ่อย ๆ ในช่วงเวลาที่เค้าสนใจ เช่น ตอนเล่น ตอนให้อาหาร หรือช่วงที่เค้ามีสมาธิอยู่กับทาส พยายามใช้น้ำเสียงอ่อนโยนและคงที่ทุกครั้งที่เรียกชื่อ เค้าจะค่อย ๆ จดจำ แถมยังช่วยสร้างสายใยระหว่างทาสกับแมวให้อบอุ่นยิ่งขึ้น

3. ใช้รางวัลเป็นแรงจูงใจเพื่อเสริมพฤติกรรมที่ดี

แมวอาจดูเป็นสัตว์รักอิสระและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เลยชอบทำอะไรตามใจตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วก็ยังคงต้องการอ้อนและต้องการการเอาใจใส่ ดังนั้น ถ้าให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง เสียงชม ขนม การลูบ หรือของเล่นทันที เมื่อเชื่อฟังทาสหรือแสดงพฤติกรรมที่ดี จะช่วยให้น้องแมวจดจำและอยากทำสิ่งนั้นอีกในอนาคต ที่สำคัญคือ อย่าลืมคงความสม่ำเสมอ และใช้ความอดทนนิดนึง โดยเฉพาะกับแมวที่ยังเด็ก

4. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำเสียงดุดัน

แม้บางครั้งน้องแมวจะซนจนทาสอยากดุ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำเสียงแข็งหรือเสียงดัง เพราะจะทำให้เจ้าเหมียวตกใจ กลัว และไม่เข้าใจว่าทำผิดอะไร ทาสควรใช้น้ำเสียงอ่อนโยนแต่จริงจัง เช่น พูดว่า “ไม่ได้นะ” ด้วยโทนนิ่ง ๆ แล้วเบี่ยงเบนความสนใจไปยังของเล่น หรือเสริมพฤติกรรมดีด้วยคำชมและรางวัล วิธีนี้จะช่วยให้น้องเรียนรู้ได้โดยไม่เสียความไว้ใจกัน

5. ให้เวลาปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การย้ายมาอยู่บ้านใหม่อาจทำให้น้องแมวรู้สึกไม่คุ้นเคย ทาสควรให้เวลาเค้าค่อย ๆ ปรับตัว ไม่เร่งรีบหรือบังคับให้ออกมาเล่นหรือเข้าสังคมทันที ปล่อยให้น้องสำรวจบ้านในจังหวะของตัวเอง คอยอยู่ใกล้ ๆ อย่างเงียบ ๆ เพื่อให้น้องรู้ว่าปลอดภัย และเมื่อเค้าเริ่มไว้ใจ ก็จะค่อย ๆ เปิดใจและเข้าหาทาสเอง

วิธีให้อาหารแมวในแต่ละช่วงวัย

1. ลูกแมว (แรกเกิด - 1 ปี)

ลูกแมวแรกเกิด

 

ลูกแมวแรกเกิด ควรดื่มนมแพะแมวเป็นหลักจนถึงวัยหย่านมช่วงประมาณ 2 เดือน และไม่ควรให้นมวัว เพราะระบบย่อยของน้องแมวมีเอนไซม์ย่อยน้ำตาลในน้ำนมวัวน้อยมาก อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรืออาเจียนได้ 

 

หลังจากหย่านม อายุ 2 เดือนขึ้นไป สามารถเริ่มให้อาหารเปียกสูตรลูกแมวเป็นอาหารหลัก โดยแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 3-5 มื้อ รวมประมาณ 250 กรัมต่อวัน เพื่อให้ย่อยง่ายและได้สารอาหารครบถ้วน 

 

เมื่อ อายุ 4 เดือนขึ้นไป ค่อย ๆ ผสมอาหารเม็ดสูตรลูกแมวเข้าไป เพื่อเสริมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการที่แข็งแรง

2. แมวโตเต็มวัย (1 - 6 ปี)

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน ให้อาหารแมวโตเต็มวัย

 

เมื่อเจ้าเหมียวเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย อายุ 1-6 ปี ระบบย่อยอาหารและพลังงานจะเริ่มคงที่ ควรเลือกอาหารสูตรแมวโตที่สมดุลทั้งโปรตีน ไขมัน และไฟเบอร์ โดยเลือกสูตรที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เช่น แมวเลี้ยงในบ้านจะใช้พลังงานน้อยกว่าควรเลือกสูตรควบคุมน้ำหนัก ส่วนแมวที่ชอบเล่นหรือออกนอกบ้านอาจต้องการสูตรพลังงานสูงขึ้น 

 

แนะนำให้แบ่งเวลาให้อาหารน้องแมวเป็นวันละ 2 มื้อ เว้นระยะห่างไม่เกิน 12 ชั่วโมง โดยปริมาณอาหารควรคำนึงถึงขนาดตัว กิจกรรมประจำวัน และสายพันธุ์ อย่างน้อยควรได้โปรตีน 35%-40% ของปริมาณอาหารที่ควรได้รับต่อวัน ให้น้องแมวมีสุขภาพแข็งแรง สดใสในทุกช่วงวัย

3. แมวสูงวัย (7 ปี ขึ้นไป)

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน ให้อาหารแมวสูงวัย

 

แมวอายุ 7 ปีขึ้นไป จะเริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย ซึ่งร่างกายและระบบการย่อยอาหารอาจเริ่มทำงานช้าลง ควรเปลี่ยนมาใช้อาหารสูตรแมวสูงวัย ที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ไขมันต่ำ พร้อมช่วยดูแลสุขภาพเฉพาะด้าน เช่น ข้อต่อ หรือระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังควรเลือกอาหารแห้งแบบเนื้อนิ่มหรืออาหารเปียกมากขึ้น โดยเฉพาะหากน้องแมวมีปัญหาเรื่องฟัน หรือเริ่มเบื่ออาหาร ควรให้อาหารวันละ 2 มื้อ และหมั่นสังเกตพฤติกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ เพื่อปรับอาหารให้เหมาะกับสุขภาพเจ้าเหมียว

วิธีฝึกแมวให้ขับถ่ายเป็นที่

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน ด้วยการฝึกขับถ่ายให้เป็นที่

 

1. สอนให้รู้จักและคุ้นเคยกับกระบะทราย

สำหรับลูกแมวที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้กระบะทราย ทาสควรอุ้มเค้าไปวางในกระบะทรายเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร เพราะเจ้าเหมียวมักจะขับถ่ายทันทีหลังอิ่ม หากทาสเห็นว่าเค้ากำลังจะขับถ่ายผิดที่ ให้รีบอุ้มอย่างเบา ๆ กลับมาที่กระบะทราย ให้เรียนรู้ว่า ตรงนี้คือจุดขับถ่าย เมื่อน้องใช้กระบะทรายได้ถูกที่ อย่าลืมให้ขนมหรือชมด้วยเสียงหวาน ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้เค้าจดจำพฤติกรรมนี้ไว้

2. วางกระบะทรายอยู่ในมุมสงบ

เจ้าเหมียวเป็นสัตว์ที่รักความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะเวลาทำธุระส่วนตัว การวางกระบะทรายในมุมที่เงียบสงบและปลอดภัย มองเห็นรอบข้างได้ จะช่วยให้น้องรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด และยอมใช้กระบะทราย โดยเป็นมุมที่ไม่มีเสียงดังรบกวน หรือทางเดินที่คนเดินผ่านบ่อย ๆ 

 

หากบ้านมีหลายชั้นหรือแมวหลายตัว ควรมีกระบะทรายตามจำนวนแมว + 1 เช่น มีแมว 2 ตัว ต้องมีกระบะทราย 3 อัน และกระจายไว้ในจุดที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งใช้หรือตีกัน รวมถึงควรตั้งให้ห่างจากชามอาหารและที่นอนเสมอ เพราะน้องแมวไม่ชอบทำธุระใกล้ที่กินหรือนอน 

3. รักษาความสะอาดกระบะทราย

แมวรักสะอาดกว่าที่ทาสคิด ถ้ากระบะทรายสกปรก มีของเสียสะสม หรือกลิ่นแรงเกินไป น้องอาจไม่ยอมใช้และไปหาที่ใหม่แทน เช่น พรม หรือที่นอนของทาส เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ทาสต้องทำความสะอาดกระบะทราย ดังนี้

 

  • ตักของเสียออกจากกระบะทราย ทุกวัน หรือเมื่อทรายจับตัวเป็นก้อน
  • เปลี่ยนทรายทั้งหมด อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในระดับความลึกประมาณ 2-3 นิ้ว ให้เจ้าเหมียวสามารถกลบของเสียได้อย่างสะอาด ถูกใจ และใช้ได้ทุกวัน 
  • ล้างกระบะ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ด้วยน้ำร้อนผสมกับน้ำยาทำความสะอาดอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีกลิ่นแรงหรือมีสารเคมีรุนแรง เพราะอาจระคายเคืองต่อผิวหรือระบบทางเดินหายใจของน้องแมวได้

วิธีฝึกแมวไม่ให้ข่วนเฟอร์นิเจอร์

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน ด้วยการฝึกให้แมวข่วนบนที่ลับเล็บแมว

 

1. ฝึกให้แมวใช้ที่ลับเล็บแทนเฟอร์นิเจอร์

แมวทุกตัวมีสัญชาตญาณในการลับเล็บ เพื่อรักษาความคมให้พร้อมใช้งาน ยืดเส้นยืดสายคลายเครียด และปล่อยฟีโรโมนจากอุ้งเท้าเพื่อทำเครื่องหมายอาณาเขต ดังนั้น ทาสไม่ควรห้าม แต่ควรฝึกให้น้องใช้ที่ลับเล็บแทนเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยเลือกที่ลับเล็บที่มีวัสดุ รูปแบบ และขนาดเหมาะกับน้องแมว วางไว้ใกล้จุดที่น้องชอบข่วน และชมเชยหรือให้รางวัลทันทีเมื่อน้องข่วนถูกจุด อาจเพิ่มแรงจูงใจด้วยการโรยแคทนิปบนที่ลับเล็บให้เจ้าเหมียวรู้ว่า ที่ลับเล็บนี้เป็นที่ของเค้า 

2. เบี่ยงเบนความสนใจเมื่อแมวข่วนผิดที่

หากเจ้าเหมียวเริ่มข่วนผิดที่ เช่น ข่วนเฟอร์นิเจอร์ ทาสควรใช้เสียงเบา ๆ เช่น “ไม่ได้นะ” ด้วยน้ำเสียงกลาง ๆ ไม่ดุจนเกินไป เพื่อเบรกพฤติกรรม จากนั้นเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการชวนเล่นสนุกกับตัวช่วยชิ้นโปรด อย่างไม้ตกแมว ลูกบอล หรือแคทนิป แล้วพาน้องไปยังที่ลับเล็บที่จัดไว้ให้ พร้อมชมด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนทันที เมื่อน้องเริ่มข่วนในจุดที่เหมาะสม

ทริกเสริมเมื่อน้องแมวข่วนเฟอร์นิเจอร์:

  • ฉีดสเปรย์กลิ่นส้มลงบนเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะในบ้านที่เลี้ยงแมวแบบปล่อย หรือแมวที่ชอบหนีเที่ยว จะช่วยลดการข่วนได้ดี
  • ตัดเล็บเจ้าเหมียวเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยลดความคมของเล็บ ทำให้เฟอร์นิเจอร์เสียหายน้อยลง และช่วยป้องกันไม่ให้น้องข่วนตัวเองหรือทาสโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย

วิธีฝึกแมวอาบน้ำ

วิธีเลี้ยงแมวในบ้าน ด้วยการฝึกแมวอาบน้ำ

 

1. ฝึกแมวให้คุ้นเคยกับน้ำทีละน้อย

ตามธรรมชาติแล้ว แมวไม่ได้กลัวน้ำ แต่เพราะรักสะอาดและรักสวยรักงามในแบบของแมว เค้าจึงไม่ค่อยชอบให้ตัวเปียก การฝึกแมวอาบน้ำจึงควรเริ่มจากให้เค้าคุ้นเคยกับน้ำทีละน้อย ด้วยการพาน้องแมวเข้าไปเล่นของเล่นโปรดในอ่างอาบน้ำ เมื่อน้องเริ่มคุ้นเคย ค่อยเปิดก๊อกน้ำให้เค้าสัมผัสกับน้ำเบา ๆ ที่สำคัญคือ ไม่ควรจับแมวหย่อนลงอ่างที่มีน้ำทันที เพราะจะทำให้น้องรู้สึกไม่ปลอดภัยและกลัวน้ำไปเลย

2. จับแมวอาบน้ำอย่างเบามือ

หลังจากเจ้าเหมียวเริ่มชินกับน้ำ ควรเติมน้ำอุ่นใส่อ่างอาบน้ำในระดับตื้น ๆ ประมาณ 2-3 นิ้ว ให้น้องแมวรู้สึกปลอดภัย อาจอาบน้ำเฉพาะส่วนที่ต้องการทำความสะอาดอย่างเบามือ แล้วค่อย ๆ ตักน้ำสะอาดล้างฟองออก ไม่ควรใช้ฝักบัวแรง ๆ หรือเปิดน้ำใส่ตัวโดยตรง เพราะจะทำให้น้องตกใจได้

3. เช็ดตัวและเป่าแห้งทันทีหลังอาบน้ำ

หลังอาบน้ำแมวเสร็จ ควรรีบใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ห่อตัวน้องแมวและซับขนให้แห้งทันที หากน้องไม่กลัวเสียงไดร์ สามารถใช้ไดร์ลมอุ่นเป่าขนให้แห้งสนิทได้ โดยตั้งระดับเสียงและความร้อนให้ต่ำที่สุด และถือไดร์ให้ห่างจากแมวอย่างน้อย 20-30 เซนติเมตร สุดท้ายอย่าลืมให้รางวัลเป็นขนมชิ้นโปรด พร้อมกอดนุ่ม ๆ และการเล่นเบา ๆ เพื่อให้น้องจำว่า การอาบน้ำก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

วิธีดูแลสุขภาพแมวให้แข็งแรง อยู่กับเราได้นาน ๆ

วิธีเลี้ยงแมวในบ้านให้แข็งแรง สุขภาพดี อยู่กับเราได้นาน ๆ

 

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็น

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทาสไม่ควรละเลยคือ การพาแมวไปฉีดวัคซีนตามช่วงวัย เพราะวัคซีนช่วยป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แม้จะเป็นแมวที่เลี้ยงระบบปิด (ในบ้าน) ก็ยังมีโอกาสสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมหรือแมวตัวอื่นผ่านมนุษย์ได้

ตารางการฉีดวัคซีนที่จำเป็นสำหรับน้องแมวในแต่ละช่วงอายุ

ช่วงอายุ (สัปดาห์) ตารางการดูแลสุขภาพและชนิดของวัคซีนที่ต้องฉีด
6 ตรวจสุขภาพ และถ่ายพยาธิ
8-9 ฉีดวัคซีนรวม ครั้งที่ 1 (ป้องกันโรคไข้หัด ช่องปาก ตาอักเสบ หวัดแมว และระบบทางเดินหายใจ)
12 วัคซีนรวมในแมว ครั้งที่ 2, วัคซีนป้องกันโรคลูคีเมียในแมว ครั้งที่ 1 และ วัคซีนพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 1
16 วัคซีนรวมในแมว ครั้งที่ 3 และ วัคซีนป้องกันโรคลูคีเมียในแมว ครั้งที่2
ทุก 1 ปี กระตุ้นวัคซีนรวมในแมว, วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ วัคซีนลูคีเมีย

2. ดูแลเรื่องเห็บหมัดและถ่ายพยาธิ

ดูแลและป้องกันการติดเชื้อปรสิตทั้งภายนอกและภายในอยู่เสมอ โดยทาสสามารถเริ่มหยดยาป้องกันเห็บ หมัด และไรในหูให้น้องแมวได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ และหยดซ้ำทุกเดือน ส่วนการถ่ายพยาธิในทางเดินอาหาร สามารถเริ่มป้อนได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์เช่นกัน และควรป้อนซ้ำทุก 3-6 เดือน ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์เสมอ ที่สำคัญคือ ห้ามใช้ยาของสุนัขกับแมวเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

3. พาแมวไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ

แม้ภายนอกน้องแมวจะดูแข็งแรงดี แต่การพาแมวไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เป็นประจำทุก 6-12 เดือนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรามั่นใจว่าเจ้าเหมียวสุขภาพดีจากภายใน รวมถึงสอบถามสาเหตุหากน้องมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป อาทิ เซื่องซึม เบื่ออาหาร หรือดื่มน้ำเยอะผิดปกติ จะช่วยให้ทาสรู้เท่าทันโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และวางแผนดูแลได้ดียิ่งขึ้น

ความถี่ในการพาแมวตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ

  • อายุน้อยกว่า 6 เดือน: ควรพาไปตรวจสุขภาพทุก 1-2 เดือน เนื่องจากอยู่ในช่วงเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกัน
  • อายุ 7 เดือน-2 ปี: ตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน เพื่อประเมินพัฒนาการและสุขภาพโดยรวม
  • อายุ 3-10 ปี: ตรวจสุขภาพ ปีละ 1 ครั้ง เป็นช่วงที่ร่างกายคงที่ แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคทั่วไป
  • อายุ 11 ปี ขึ้นไป: ควรตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามสัญญาณของโรคเรื้อรังและความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ

4. ทำหมันแมวเพื่อสุขภาพที่ดี

การทำหมันเป็นหนึ่งในวิธีดูแลสุขภาพน้องแมวให้แข็งแรง เพราะช่วยลดความเสี่ยงของโรคระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูกอักเสบ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอัณฑะ รวมถึงช่วยให้แมวมีพฤติกรรมสงบลง ไม่ออกเร่ร่อน หรือสเปรย์ฉี่ทำอาณาเขตบ่อย ๆ โดยทั่วไปสามารถเริ่มทำหมันแมวได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ฉีดวัคซีนครบแล้ว หรือปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดกับเจ้าเหมียว

รวมเคล็ดลับการดูแลแมวในบ้าน ฉบับทาสแมวมือโปร จาก AP Thai

 

เติมใจให้เต็มไปด้วยรัก ด้วยมุมพิเศษและวิธีเลี้ยงแมวในบ้านและคอนโด

การเลี้ยงแมวในบ้านหรือคอนโด คือ การเปิดหัวใจให้กับเพื่อนตัวน้อยอีกหนึ่งชีวิต ที่พร้อมเติมเต็มทุกวันของทาสด้วยความน่ารัก ซุกซน และเงียบสงบในแบบของแมว ทาสแมวมือใหม่สามารถสร้างความอบอุ่นนี้ได้ง่าย ๆ เพียงเตรียมมุมพิเศษให้เจ้าเหมียวรู้สึกปลอดภัย พร้อมดูแลด้วยวิธีเลี้ยงแมวแบบเข้าใจธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ สานสายใยแห่งรักระหว่างทาสกับเจ้าเหมียว ให้เต็มไปด้วยความสุข ความนุ่มฟูในทุกครั้งที่เค้าเดินมาอ้อน

 

เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต

เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย

 

EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ