KNOW HOW
  • FINANCIAL

รู้ทันภาษีมรดก ทรัพย์สินไหนบ้างที่ต้องเสีย?

บทความที่จะแนะนำว่าทรัพย์สินแบบไหนที่ต้องเสียภาษีมรดก และภาษีมรดกคืออะไร พร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับมรดก

AP THAILAND

AP THAILAND

“ที่ใดมีเงินได้ ที่นั่นมีภาษี” เป็นความจริงที่ว่าเมื่อเราได้รับเงินมา ไม่ว่าจะจากช่องทางใด ก็จะต้องมีการเสียภาษีเกิดขึ้น แม้กระทั่งว่าสิ่งที่ได้รับมานั้นจะเป็นมรดกตกทอดก็ตาม แต่ก็มีเงื่อนไขในการเสียภาษีมรดกเช่นเดียวกัน ดังนั้น บทความนี้จะมาอธิบายไขข้อข้องใจเกี่ยวกับภาษีมรดกให้ได้ทราบ ไม่ว่าจะเป็น ภาษีมรดกที่ดิน หรือกองมรดกคิดอย่างไร หรือต้องเสียภาษีมรดกกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่ทั้งผู้ให้และผู้รับมรดกจะได้มีการเตรียมความพร้อม วางแผนมรดกส่งต่อให้ลูกหลานต่อได้ในอนาคต

ภาษีมรดกคืออะไร?

ภาษีมรดก คือ ภาษีส่วนบุคคลที่จะถูกเรียกเก็บเมื่อมรดกจากผู้ตายถูกส่งต่อให้แก่บุพการี ทายาท หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดแต่ได้รับมรดกส่วนนั้น ตามพระราชบัญญัติภาษีมรดก พ.ศ. 2558 ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดกจากผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน หรือมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ต้องเสียภาษีมรดก

 

โดยฐานภาษีจะคิดจากมูลค่าทรัพย์มรดก และอัตราที่ต้องเสียจะไม่เท่ากัน ดูจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ซึ่งจะคิดจากมูลค่าทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การเสียภาษีมรดกก็เพื่อที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่งในฐานะทางสังคมนั่นเอง

 

ทรัพย์สินไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

ทรัพย์สินไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

มรดกที่ได้รับมาซึ่งจำเป็นต้องเสียภาษี มีดังนี้

  • อสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องเสียภาษีมรดกซึ่งก็คือ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งในไทยและในต่างประเทศ
  • หลักทรัพย์ตามกฎหมาย ได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยหรือต่างประเทศ
  • เงินฝาก
  • ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานการจดทะเบียน
  • ทรัพย์สินทางการเงิน

 

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก และเสียกี่เปอร์เซ็นต์

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก และเสียกี่เปอร์เซ็นต์

คนที่มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก มีดังนี้

  • เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • เป็นบุคคลที่ถือสัญชาติอื่น แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมาย
  • เป็นบุคคลที่ถือสัญชาติอื่น แต่รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย
  • เป็นนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนในไทย หรือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

 

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าการเสียภาษีมรดกจะจำแนกอัตราภาษีตามความสัมพันธ์ใกล้ชิดด้วย ก็อาจจะเกิดข้อสงสัยตามมาว่า หากเราได้รับมรดกจะต้องเสียภาษีมรดกกี่เปอร์เซ็น ซึ่งรายละเอียดนั้นมีดังนี้

  • บุพการีหรือผู้สืบสันดานของผู้ส่งมอบมรดก จะต้องเสียอัตราภาษีมรดก 5 เปอร์เซ็นต์
  • ผู้ที่ไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของผู้ส่งมอบมรดก จะต้องเสียอัตราภาษีมรดก 10 เปอร์เซ็นต์

 

โดยในที่นี้จะกำหนดให้ต้องเสียอัตราภาษีการรับมรดกเมื่อส่วนเกินของมูลค่านั้นมากกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ก็ยังมีการเสียภาษีการให้ที่ควบคู่กับภาษีมรดกด้วย ซึ่งเป็นการที่ผู้ตายได้มอบโอนทรัพย์สินแก่ผู้รับก่อนที่จะเสียชีวิต อัตราการเสียภาษีมรดกจะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ในบุพการีหรือผู้สืบสันดานที่ได้รับทรัพย์สินส่วนเกินมูลค่า 20 ล้านบาท แต่ถ้าหากไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของผู้ส่งมอบมรดก จะเสียอัตราภาษีมรดกที่ 5 เปอร์เซ็นต์ จากส่วนเกินมูลค่าของทรัพย์สิน 10 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะเป็นในส่วนของสังหาริมทรัพย์

 

วิธีคำนวณภาษีมรดก

วิธีคำนวณภาษีมรดก

การคำนวณภาษีมรดกไม่ยากอย่างที่คิด และควรเรียนรู้เอาไว้ เพื่อเป็นการวางแผนการส่งมอบมรดกให้แก่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือผู้ที่ต้องการให้คนอื่นๆ ซึ่งอัตราภาษีที่ต้องคิดก็จะแตกต่างกันออกไปตามแบบที่กล่าวไว้

 

สิ่งสำคัญ คือ จะต้องคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับก่อนว่าเกิน 100 ล้านบาทหรือไม่ จะใช้การประเมินของหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก หรือราคาประเมินของกรมที่ดินก็ได้ นอกจากนี้ ก็จะมีราคาประเมินทรัพย์สินอื่นๆ เพิ่มเติมที่สามารถศึกษาได้จากกรมสรรพากร เมื่อนำมูลค่ามรดกที่ประเมินพร้อมหักหนี้สินตามที่เจ้าของมรดกมีแล้วทั้งหมดไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีมรดก แต่ถ้าหากเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีตามนี้

คำนวณภาษีมรดกอัตราคงที่ 5%

ในบุพการีหรือผู้สืบสันดาน มีอัตราภาษีมรดกที่ต้องเสียอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ของส่วนเกินมูลค่า 100 ล้านบาท เช่น ผู้ตายส่งมอบมรดกให้แก่ทายาทในจำนวน 150 ล้านบาท สูตรการคำนวณภาษีมรดก คือ

  • ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ – 100 ล้านบาทที่กำหนดไว้ว่าไม่ต้องเสียภาษี) x 5%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = (150 – 100) x 5%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = 2.5 ล้านบาท

 

ตัวอย่างเพิ่มความชัดเจน เช่น

  • มรดกที่ได้รับมีมูลค่า 600 ล้านบาท จะต้องจ่ายภาษี 25 ล้านบาท สูตรคำนวณคือ (600 – 100) x 5%
  • มรดกที่ได้รับมีมูลค่า 880 ล้านบาท จะต้องจ่ายภาษี 39 ล้านบาท สูตรคำนวณคือ (880 – 100) x 5%
  • มรดกที่ได้รับมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท จะต้องจ่ายภาษี 45 ล้านบาท สูตรคำนวณคือ (1,000 – 100) x 5%

คำนวณภาษีมรดกอัตราคงที่ 10%

หากผู้ที่ได้รับมรดกไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับผู้ตาย คือ ไม่ได้เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน อัตราภาษีมรดกที่ต้องเสียจะอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็น ของส่วนเกินมูลค่า 100 ล้านบาท เช่น ผู้ตายส่งมอบมรดกให้แก่เพื่อนสนิทในจำนวน 150 ล้านบาท สูตรการคำนวณภาษีมรดกคือ

  • ภาษีต้องจ่าย = (มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ – 100 ล้านบาทที่กำหนดไว้ว่าไม่ต้องเสียภาษี) x 10%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = (150 – 100) x 10%
  • ภาษีที่ต้องจ่าย = 5 ล้านบาท

 

ตัวอย่างเพิ่มความชัดเจน เช่น

  • มรดกที่ได้รับมีมูลค่า 600 ล้านบาท จะต้องจ่ายภาษี 50 ล้านบาท สูตรคำนวณคือ (600 – 100) x 10%
  • มรดกที่ได้รับมีมูลค่า 880 ล้านบาท จะต้องจ่ายภาษี 78 ล้านบาท สูตรคำนวณคือ (880 – 100) x 10%
  • มรดกที่ได้รับมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท จะต้องจ่ายภาษี 90 ล้านบาท สูตรคำนวณคือ (1,000 – 100) x 10%

 

หรือจะเข้าใจง่ายๆ ว่า ผู้ที่ไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของผู้ส่งมอบมรดก จะต้องเสียภาษีมรดกมากกว่าผู้ที่เป็นบุพาการีหรือผู้สืบสันดานของผู้ส่งมอบมรดกจำนวนครึ่งหนึ่งนั่นเอง

 

วิธีการยื่นภาษีมรดก

วิธีการยื่นภาษีมรดก

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมรดกจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และนำไปชำระภาษีที่สรรพากร ภายใน 120 วันตั้งแต่ได้รับมรดก

ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเสียชีวิตจะต้องแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาจัดการแทนภายใน 180 วัน เพื่อยื่นใบภ.ม.60 และชำระภาษีแทน โดยจะต้องเพิ่มเงิน 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่จะชำระภายใน 150 วัน สามารถแยกย่อยได้ดังนี้

  • หากผู้เสียภาษีเสียชีวิตก่อนครบกำหนดเวลายื่นแบบ ภ.ม.60 ให้ผู้จัดการมรดกทำหน้าที่ชำระภาษีแทนโดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ
  • หากผู้เสียภาษีเสียชีวิตเมื่อครบกำหนดเวลายื่นใบภ.ม.60 แต่ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกทำหน้าที่แทน และเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ
  • หากยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายหลังกำหนดเวลา จะต้องชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ และเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ

 

หากไม่มีผู้จัดการมรดกมาชำระภาษีแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีภายใน 180 วัน จะต้องให้ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเป็นผู้จัดการแทนภายใน 150 วัน นับตั้งแต่พ้นวันที่กำหนด 180 วัน หากมีทายาทหลายคนให้ตกลงมอบอำนาจให้คนใดคนหนึ่ง เพื่อรับหน้าที่จัดการเสียภาษีมรดกให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่เสียภาษีมรดกให้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อที่จะได้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นลำดับถัดไป

 

กรณีที่ถูกยกเว้นการเสียภาษีมรดก

กรณีใดที่ถูกยกเว้นการเสียภาษีมรดก

มรดกที่ได้รับมาและมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทนั้นจำเป็นจะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แต่ก็มีข้อยกเว้นที่แม้ว่าจะได้รับมรดกมาเกินมูลค่า 100 ล้านบาท แต่ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลยเช่นเดียวกัน โดยมีดังต่อไปนี้

  • ผู้เสียชีวิตได้ส่งมอบมรดกให้ผู้รับ ก่อนที่พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 จะถูกบังคับใช้ โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559
  • ผู้เสียชีวิตได้ส่งมอบมรดกนั้น เพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ เช่น วัด มูลนิธิ สถาบันการศึกษา
  • ผู้เสียชีวิตได้ส่งมอบมรดกแก่หน่วยงานของภาครัฐเพื่อทำประโยชน์ เช่น ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบริหารราชการแผ่นดิน องค์การมหาชนที่จัดตั้งโดยกฎหมาย หรือรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งกฎหมายโดยเฉพาะ
  • ผู้เสียชีวิตส่งมอบมรดกให้แก่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรสหประชาชาติ สถานทูต

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีกองมรดกที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมรดกอีกด้วย โดยกองมรดกก็ คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้เสียชีวิต รวมถึงหน้าที่ สิทธิและความรับผิดชอบต่างๆ ส่วนกองมรดกที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีจะหมายรวมถึงในกรณีใดบ้าง สามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้

  • เงินสด
  • ทองคำ
  • เพชรพลอย เครื่องเพชร เครื่องประดับ
  • ของสะสมและของโบราณ
  • ทรัพย์สินทางปัญญา

 

เลี่ยงจ่ายภาษีมรดกได้หรือไม่

เลี่ยงจ่ายภาษีมรดกได้หรือไม่

การเลี่ยงจ่ายภาษีมรดกไม่สามารถทำได้เด็ดขาด หรือการยื่นชำระภาษีช้ากว่ากำหนดก็จะมีโทษทางกฎหมายเช่นกัน โดยจะมีบทลงโทษดังนี้

  • หากยื่นแบบ ภ.ม.60 ภายหลังเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ และจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่วันพ้นเวลายื่นภาษี
  • หากยื่นแบบ ภ.ม.60 ไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงความเป็นจริง เงินภาษีที่ต้องชำระเป็นอันขาดตกบกพร่องไป จะต้องเสียเบี้ยปรับ 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องจ่าย
  • หากไม่ยื่นแบบ ภ.ม.60 โดยไม่มีเหตุอันสมควร จะมีโทษปรับไม่เกิน 500,00 บาท
  • หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไป ซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
  • หากจงใจยื่นข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จโดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

วางแผนภาษีมรดกอย่างไรให้ผู้รับมรดกได้ผลประโยชน์

วางแผนภาษีมรดกอย่างไร? ให้ผู้รับมรดกได้ผลประโยชน์

การวางแผนภาษีมรดกสำคัญไม่น้อย เพราะจะทำให้ผู้รับมรดกได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเคล็ดลับการวางแผนภาษีมรดกนั้นมีวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้

  • เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เช่น เปลี่ยนเป็นเงินสด ทองคำ หรือเครื่องเพชร เป็นต้น
  • โอนทรัพย์สินแก่ผู้รับมรดกในขณะที่ยังมีชีวิต ปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท แม้จะต้องเสียภาษี แต่ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกเพิ่มเติม
  • ซื้อประกันชีวิต เพราะจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ยิ่งเราจ่ายเบี้ยไปเท่าไหร่ ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นทุนประกันที่สูงกว่ากลับมา
  • ก่อตั้งมูลนิธิ สมาคม หรือวิสาหกิจเพื่อชุมชน เป็นการทำประโยชน์เพื่อสังคม และยังสามารถจดทะเบียนกับกรมสรรพากรเพื่อขอยกเว้นภาษีได้อีกด้วย

 

ภาษีมรดก คือ ภาษีส่วนบุคคลที่จะต้องชำระเมื่อได้รับมรดกมูลค่ารวมเกิน 100 ล้านบาท หากผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานจะเสียภาษีมรดกที่อัตรา 5% แต่หากไม่ได้มีความสัมพันธ์เช่นนั้นจะเสียภาษีที่อัตรา 10% การเสียภาษีมรดกนั้นไม่สามารถเลี่ยงได้ เพราะจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และควรจ่ายภาษีให้ตรงเวลา อย่างไรก็ตาม การวางแผนภาษีมรดกก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน หากศึกษาและทำความเข้าใจไว้ก็จะช่วยในการวางแผนจัดการทรัพย์สินได้ดี ทำให้ผู้รับมรดกได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

RELATED ARTICLES